เช็คเลย! จ่ายไร่ละ 1,000 บาท จังหวัดไหนได้รับวันใดบ้าง

ธ.ก.ส. เผยแผนโอนจ่ายเงินค่าบริหารจัดการชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท แบ่งการโอนเป็น 5 ครั้ง เริ่มโอนแล้ววันนี้-2 ธ.ค.66

  • ประเดิมวันแรก 28 พ.ย. 2566 โอนวงเงิน 7,989 ล้านบาท รวม 6.2 แสนครัวเรือน
  • โอน 29 พ.ย.66 วงเงิน 8,408 ล้านบาท รวม 7.4 แสนครัวเรือน พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด
  • เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปฯ BAAC Mobile ตลอด 24 ชม.

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จึงได้มอบนโยบายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 และมติคณะกรรมการธ.ก.ส. โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 54,336 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2566/67

พร้อมจัดทำแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 28 พ.ย. นี้ เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดการโอนเงินดังนี้ ครั้งที่ 1 กลุ่ม A วันที่ 28 พ.ย. 2566 วงเงิน 7,989 ล้านบาท รวม 6.2 แสนครัวเรือนในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 77 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐมสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรีสระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ครั้งที่ 2 กลุ่ม B วันที่ 29 พ.ย. 2566 วงเงิน 8,408 ล้านบาท รวม 7.4 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตากพิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี

ครั้งที่ 3 กลุ่ม C วันที่ 30 พ.ย. 2566 วงเงิน 9,480 ล้านบาท รวม 8.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนมมุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด

ครั้งที่ 4 กลุ่ม D วันที่ 1 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,277 ล้านบาท รวม 7.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร

ครั้งที่ 5 กลุ่ม E วันที่ 2 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,282 ล้านบาท รวม 8.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธ์ุ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และhttps://chongkho.inbaac.com อีกด้วย

นอกจากนี้ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐบาลได้มอบนโยบายในการจัดทำมาตรการคู่ขนาน เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 34,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) และ 2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02 555 0555