เชียงใหม่ ผนึก กฟผ. ผุดโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวด้านศาสนสถาน หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย

  • พร้อมชวน 5 หน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่ จับมือ กฟผ. เพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวด้านศาสนสถาน
  • ลุยติดตั้งไฟส่องสว่าง LED ร่วมกับระบบโซลาร์เซลล์
  • นำร่อง 7 วัด เส้นทางถนนคนเดินท่าแพ ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
  • หวังเป็นต้นแบบนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวด้านศาสนสถาน (วัด) ด้วยการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ จังหวัดเชียงใหม่” โดยมี นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางจุรีรัตน์ ใจแข็ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวชนิสา ชมศิลป์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงเจตจำนงความร่วมมือ

นอกจากนี้ยังมี ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ร่วมลงนาม และ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมในพิธีด้วย ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  

ทั้งนี้โครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวด้านศาสนสถาน ด้วยการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูง และพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับสากล 

เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับชุมชน จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 รองรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล สร้างความปลอดภัยภายในวัดจากการใช้ไฟส่องสว่าง LED สร้างความสวยงามยามค่ำคืน รวมถึงเป็นต้นแบบขยายผลการส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  

สำหรับการดำเนินงาน กฟผ. จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูง และพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย โคมส่องสว่างชนิด LED และโคมส่องสว่างชนิด LED ระบบโซลาร์เซลล์ ภายในวัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ นำร่องในเส้นทางถนนคนเดินท่าแพ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ วัดหมื่นล้าน วัดพันอ้น วัดสำเภา วัดพันเตา วัดชัยพระเกียรติ วัดทุงยู และวัดศรีเกิด กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2565 

โดย กฟผ. และพันธมิตร 5 หน่วยงาน จะทำการออกแบบ และติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างให้เป็นไปตามหลักวิชาการตลอดจนการประชาสัมพันธ์ และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ชนิดถาวรในศาสนสถาน รวมถึงการตรวจติดตามและประเมินผลโครงการในมิติต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางในการดำเนินงานในส่วน ศาสนสถานอีก 31 แห่งในระยะต่อไปอีกด้วย