“เฉลิมชัย”ตื่น!สั่งกรมชลประทานจัดสรรน้ำลงอีอีซีรับแล้งหนัก

รมว.เกษตรฯ ห่วงพื้นที่อีอีซี สั่งอธิบดีกรมชลประทานจัดสรรน้ำฤดูแล้งตามแผนอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค ไม้ผล และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสำรองน้ำไว้กรณีเข้าสู่ฤดูฝนล่าช้าตามกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำสูงทั้งอุปโภค-บริโภค เลี้ยงพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ไม้ผล และภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดได้รับรายงานว่าปริมาณน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงร้อยละ 30-50 ขณะที่ฤดูแล้งจะสิ้นสุดในอีก 4 เดือน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำในอ่างเก็บน้ำของชลประทาน สำหรับจังหวัดที่เป็นห่วงที่สุด คือ ระยอง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำสูง จึงกำชับให้บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปแผนอย่างเคร่งครัดและไม่เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 9 รายงานว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีน้ำรวม  675.39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.88 ของความจุอ่างทั้งหมด ส่วนอ่างขนาดกลาง 55 แห่ง มีน้ำรวม 544.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57.66% ของความจุอ่างทั้งหมด การจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา รักษาระบบนิเวศน์ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ทางชลประทานได้หารือกับภาคเอกชนและเกษตรกรกำหนดมาตรการในการประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 รวมถึงสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 

สำหรับข้อห่วงใยของ รมว.เกษตรฯ ถึงจังหวัดระยอง ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/2563 จำนวน 137,772 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทานที่มีแหล่งน้ำต้นทุน (อ่างเก็บน้ำ) 1 แห่ง  เป็นไม้ผลไม้ยืนต้น 136,508 ไร่ บ่อปลาบ่อกุ้ง 1,040ไร่ 

ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนต้องนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดชลบุรี ระบายน้ำมายังฝายทดน้ำเพื่อส่งน้ำการส่งน้ำ เพื่อการเกษตรเป็นข้าว 4,780 ไร่ พืชไร่ 165 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 27,107 ไร่ และบ่อปลาบ่อกุ้ง 1,249 ไร่ ซึ่งได้ให้จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเคร่งครัดตามแผน ไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นได้แก่ อุปโภค-บริโภค  อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ มีความต้องการใช้น้ำมาก จึงต้องใช้มาตรการประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำลงเพื่อขยายเวลาจนกว่าจะเข้าฤดูฝน

ส่วนจังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ชลประทาน 3 แห่ง รวม 100,690 ไร่ โครงการชลประทานชลบุรีวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 จำนวน 12,085 ไร่ ส่งน้ำให้ไม้ผลไม้ยืนต้น 225 ไร่และบ่อปลาบ่อกุ้ง 11,860 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวง รัชชโลทรวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 25,200 ไร่ ส่งน้ำนาปรัง 21,000 ไร่ และบ่อปลาบ่อกุ้ง 4,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีพืชไร่ พืชผัก และไม้ผลไม้ยืนต้น รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำในจังหวัดชลบุรีมีมากเช่นเดียวกับจังหวัดระยอง แต่การบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดจะทำให้มีน้ำเพียงพอใช้แน่นอน

ส่วนจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ชลประทาน 10 แห่ง รวมพื้นที่ 166,012 ไร่ โครงการชลประทานจันทบุรีวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 151,599 ไร่ เป็นพืชไร่ 4,823 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 131,179 ไร่ และบ่อปลาบ่อกุ้ง 15,596 ไร่ แผนความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง รวมการใช้น้ำ 6 ล้าน ลบ.ม./เดือน โดยวันที่ 1 มกราคม 2563 มีปริมาณน้ำคงเหลือรวม 59  ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้สำหรับต้นฤดูฝนอีก 47 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น พื้นที่ชลประทานในเขตจังหวัดจันทบุรีมีน้ำเพียงพอเช่นกัน

นายทองเปลว กล่าวว่า สั่งการให้ติดตามค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง โดยจากการตรวจวัดที่วัดมูลเหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ระยะทาง 170  กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ ตั้งแต้ต้นฤดูแล้งจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ต้องควบคุมความเค็มไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร ล่าสุดค่าความเค็มวานนี้ (16 ม.ค.) อยู่ที่ 0.09 กรัมต่อลิตร ไม่เกินเกณฑ์ควบคุม นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่ต่าง ๆ รวม 40 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครนายก 10 เครื่อง ปราจีนบุรี 20 เครื่อง ฉะเชิงเทรา 10 เครื่อง และเตรียมความพร้อมไว้ที่สำนักงานชลประทานและศูนย์สูบน้ำต่าง ๆ อีก 27 เครื่อง รวมถึงส่งรถบรรทุกน้ำเตรียมเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมดแล้ว