เจโทรเผยแห่เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยรับโควิดคลี่คลาย

.เปิดร้านใหม่เกือบ 1 พันร้านดันยอดรวมทั่วประเทศกว่า 5.3 พันร้าน
.ยอดขายกลับมาฟื้นตัวเพิ่ม 80% เทียบกับปี 62 ก่อนเกิดโควิด
.ชี้ต้นทุนพุ่งทั้งราคาวัตถุดิบ-ค่าไฟทำร้านอาหารยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

นายจุน คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยถึงผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 65 ที่สำรวจจำนวนร้าน และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 17 องค์กร/บริษัท วันที่ 1 ก.ย.-10 ธ.ค.65 โดยเน้นร้านอาหารที่ให้บริการอาหารญี่ปุ่น หรืออาหารที่ดัดแปลงเป็นสไตล์ญี่ปุ่น, ร้านอาหารที่มีเมนูอาหารญี่ปุ่นเกินครึ่งหนึ่งของเมนูทั้งหมด และร้านอาหารที่จัดที่นั่งสำหรับลูกค้าแบบถาวรว่า ปี 65 มีร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย 5,325 ร้านทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 955 ร้าน หรือ 21.9% จากปี 64 ที่มี 4,370 ร้าน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจปี 50 โดยในกรุงเทพฯ มีมากที่สุด 2,394 ร้าน ต่างจังหวัด 2,147 ร้าน และ 5 จังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) 784 ร้าน


สำหรับประเภทร้านที่เปิดใหม่สูงสุด ได้แก่ ซูชิ เปิดใหม่ 448 ร้าน รวม 1,431 ร้าน ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น เปิดใหม่ 263 ร้าน รวม 1,273 ร้าน ร้านราเมง เปิดใหม่ 185 ร้าน รวม 611 ร้าน สุกี้/ชาบู เปิดใหม่ 75 ร้าน รวม 386 ร้าน เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีร้านที่ปิดกิจการในช่วงโควิด-19 ระบาด และกลับมาเปิดกิจการใหม่แล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ปิดกิจการถาวร ทำให้ร้านที่ปิดกิจการชั่วคราวลดลงเหลือ 105 ร้านในปีนี้ จากปี 64 อยู่ที่ 231 ร้าน
โดยในปีนี้ ร้านอาหารจำนวนมากได้ปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งราคาวัตถุดิบอาหาร รวมถึงค่าไฟฟ้า


“ปีนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นมาก เป็นการเพิ่มขึ้นของเชนร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านที่ขยายสาขาโดยขายแฟรนไชส์ และร้านสาขาเดียวที่บริหารโดยคนไทย แสดงให้เห็นว่า คนไทยนิยมอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจไทยดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้น”


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่น ให้ความเห็น ยอดขายของร้านฟื้นตัวขึ้นถึง 70-80% เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนโควิด ขณะที่รายงานงบการเงินของบริษัทเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ พบว่า ไตรมาส 1-3 ปีนี้ มียอดขายอยู่ที่ 43-112% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 62 ส่วนเหตุผลที่ทำให้ยังไม่กลับไปฟื้นตัวเท่าเดิม เพราะมีปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก รวมถึงการเลี้ยงสังสรรค์ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มากเท่าก่อนช่วงโควิด


นายคุโรดะ กล่าวอีกว่า ในอนาคต ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะคนไทยรุ่นใหม่คุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยังเด็ก อีกทั้ง คาดว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นจะแพร่หลายมากขึ้นในต่างจังหวัด และความหลากหลายของระดับราคา จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น


ทั้งนี้ จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย และความต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ ล่าสุด ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปีนี้ นำเข้าแล้ว 42,400 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 36,700 ล้านเยน คาดว่า ทั้งปีนี้ จะนำเข้ามากกว่าปี 64 ที่มีมูลค่า 44,100 ล้านเยน สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด เช่น ปลาทูนา ปลาโอ, หนังหมู, ปลาซาร์ดีน, ปลาซาบะ, เนื้อวัว, ซอสปรุงรส ฯลฯ โดยในปี 64 ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร มาไทยเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม ที่มีมูลค่าส่งออก 58,500 ล้านเยน และช่วง 10 เดือนปีนี้ ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากเวียดนาม และสิงคโปร์