เจาะนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร 4 พรรคการเมือง อยู่ต่อหรือพอแค่นี้?

ช่วงต้นเดือนเม.ย.ของทุกปี นอกจากอากาศจะร้อนระอุแดดแล้ว อุณหภูมิของบรรยากาศการคัดเลือกทหารเกณฑ์ก็ร้อนฉ่าไม่แพ้กันสำหรับชายไทยอายุครบ 20ปีบริบูรณ์ (อายุย่างเข้า 21 ปี) ที่ต้องวัดดวงจับใบดำใบแดง หลากความรู้สึก หลายอารมณ์มีให้เห็น บางคนก็ตัดสินใจสมัครไปเลยก็มี บางคนที่ไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์พอจับได้ใบดำก็เฮลั่น ดีอกดีใจ แก้บนกันยกใหญ่ ขณะที่บางคนจับได้ใบแดงถึงกับปล่อยโฮออกมา ให้เห็นน้ำตาลูกผู้ชายก็มีกันอยู่บ่อยๆ

ประเด็น “การเกณฑ์ทหาร” ถูกหยิบยกมาเป็นนโยบายของพรรคการเมือง และถือเป็นนโยบายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมทั่วไปเป็นจำนวนมาก มาดูกันว่ามีพรรคใดบ้าง และนโยบายเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้ที่จะพลิกโฉมการเกณฑ์ทหารของประเทศได้จริงหรือไม่

พรรคเพื่อไทย: ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

เรื่องการเกณฑ์ทหารของพรรคเพื่อไทยบรรจุอยู่ในหัวข้อนโยบายการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า จะปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ และเปิดกว้างให้สมัครทหารออนไลน์และไม่กำหนดเป้าหมายการรับ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่

พรรคไทยสร้างไทย: ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ

พรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนให้ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เสี่ยงดวงเป็นทหารเกณฑ์ โดยให้เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ มีอนาคตที่จะเลื่อนขั้นและเติบโตในสายวิชาชีพนี้ พร้อมระบุว่า ทุกเหล่าทัพมีทหารเกณฑ์รวมกันประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้อาสาเข้ามาเป็นทหารประมาณ 50,000คน และจับได้ใบแดงอีก 50,000 คน จำนวนทหารเกณฑ์ 100,000 คนนี้ถือว่ามีจำนวนมากกว่าความต้องการจริง จึงเห็นภาพพลทหารไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา ซึ่งใช้งานผิดประเภท และเกินความจำเป็น 

อย่างไรก็ตามพลทหารมีความจำเป็นสำหรับกองทัพ แต่ทหารที่เข้าไปโดยไม่ได้สมัครใจ อาจจะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ขณะที่งบประมาณที่ใช้สำหรับทหารเกณฑ์ปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท หากปรับลดจำนวนพลทหารลงเท่าที่จำเป็น งบประมาณก็จะเหลือ

พรรคก้าวไกล : ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจ 100%

พรรคก้าวไกลบรรจุนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจ 100% เป็น 1 ใน 300 นโยบายที่ประกาศออกมา โดยประกาศว่า เดือน เม.ย.2566นี้ จะมีการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย เพราะนโยบายของพรรคทำให้เกิดผลการปฏิบัติได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความมั่นคง ผ่านการลดยอดพลทหารที่กองทัพเรียกขอที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง พร้อมกับสร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร เช่น การสร้างสวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี การกำจัดความรุนแรงในค่าย

พรรคก้าวไกลบรรยายไว้ในนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารพุ่งเป้าไปที่กองทัพว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 90 ปีที่ผ่านมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ทหารและกองทัพได้เข้ามาแทรกแซงและทำลายพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทั้งจากการแทรกแซงที่โจ่งแจ้งที่สุดของกองทัพอย่างการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจที่ตามมา

อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทหารและกองทัพยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางอำนาจของกองทัพให้อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในเชิงความความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตลอดจนในมิติของธุรกิจการเมือง หรือแม้กระทั่งความเป็นอำนาจนิยมของระบบทหารไทยซึ่งส่งผลลบต่อประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีการใช้งบประมาณสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของภาครัฐไทยในแต่ละปี โดยงบประมาณกองทัพที่ผ่านมาเคยขึ้นไปสูงที่สุดที่ 227,000 ล้านบาทใน ปี 2562 ดังนั้นการลดขนาดกองทัพ และปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อให้งบประมาณที่สิ้นเปลืองดังกล่าวถูกเปลี่ยนถ่ายสู่สวัสดิการและประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนอย่างยั่งยืน

พรรคเสรีรวมไทย : ยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้ใช้ระบบอาสาสมัคร ลดอายุประจำการเหลือ 1 ปี

พรรคเสรีรวมไทย มีนโยบายด้านการเกณฑ์ทหารว่า จะเปลี่ยนกองทัพให้เล็กแต่ทันสมัย ลดจำนวนนายพลในกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้ใช้ระบบอาสาสมัคร ลดอายุประจำการเหลือ 1 ปี และเน้นใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคน