เงินบาทพลิกฟื้นปลายสัปดาห์ คาดสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์

  • เงินบาทพลิกฟื้นแข็งค่า 35.99 บาทปลายสัปดาห์ 
  • หลังร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่ง
  • ยังต้องจับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติสัปดาห์หน้า

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่งที่ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงแรกเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์จากรายงานการประชุมเฟด (14-15 มิ.ย.) ที่ยังคงสะท้อนว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับลดงบดุลต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามจังหวะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายทำกำไร หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่น้อยลงในรอบการประชุมที่เหลือของปี หลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% แล้วในเดือนก.ค. อนึ่ง ธปท. กล่าวถึงการอ่อนค่าของเงินบาทว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก โดยธปท. จะยังคงปล่อยให้เงินบาทปรับตัวไปตามกลไกตลาด แต่อาจมีการเข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวนหากพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,344 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าสู่ตลาดพันธบัตร 793 ล้านบาท (โดยแม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 1,903 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,110 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (11-15 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 2/2565 ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนและตัวเลขการส่งออก เดือนมิ.ย. ด้วยเช่นกัน