เงินบาทยังผันผวนหนัก! คาดสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 34.40-35.00 บาท

  • ยังต้องจับตาเงินทุนต่างชาติ
  • เงินเฟ้อไทยในสัปดาห์หน้า

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยอ่อนค่าในช่วงแรก ก่อนพลิกแข็งค่ากลาง-ปลายสัปดาห์ ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่พลิกกลับมาขาดดุลในเดือนม.ค. สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการฟื้นกลับมาของเงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากข้อมูล PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.พ. ของจีนที่บ่งชี้ถึงการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน ขณะที่กรอบแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันที่ 7-8 มี.ค. นี้

ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-3 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องที่ 10,142 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,192 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 8,179 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 4,987 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (6-10 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP เดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนม.ค.-ก.พ. ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของจีนด้วยเช่นกัน