“อุตตม” ติวเข้มกำชับทุกหน่วยงานของคลัง เตรียมข้อมูลหนุนรัฐแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเต็มสูบ

  • “อุตตม” จี้แต่ละกรมฯ เตรียมข้อมูลหนุนรัฐแถลงนโยบาย 25 ก.ค.62
  • สศค.เร่งสรุปนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10%
  • หวั่นกระทบรายได้-ฐานะการคลังของรัฐ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22ก.ค.2562) ได้เรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงการคลังทั้งหมด โดยสั่งให้ทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูลเพื่อรองรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 ก.ค.นี้ โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมจะเป็นเรื่องการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานว่าที่ผ่านมาว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง และในอนาคตมีแผนงานอะไรที่จะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลทั้ง 12 ข้อ

“จะเน้นเตรียมข้อมูลให้เรียบร้อย เพื่อจะได้นำไปให้ผู้ชี้แจงข้อมูลของรัฐบาลที่จะต้องแถลงนโยบายช่วงวันที่ 25 ก.ค. 2562 มีข้อมูลให้ครบถ้วน ส่วนในเรื่องการทำงานนั้น ตนไม่ได้หนักใจอะไร เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนดำเนินงานตามปกติ”

ด้านนายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.กำลังเร่งศึกษานโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด หลังจากนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้ศึกษาการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ โดยจะต้องประกอบการพิจารณากับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้และฐานะการคลังของรัฐบาล

“การศึกษาเรื่องการปรับลดภาษีเงินได้ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อรายได้รัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งหากปรับลดแล้ว จะมีรายได้ส่วนไหนมาทดแทน ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้รอบคอบ”

สำหรับแนวนโยบายรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอของสศค. ที่ได้เสนอคณะกรรมการปฏิรูปภาษี ไว้ อย่างไรก็ตามทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายโอนอำนาจระหว่างหน่วยงานจัดเก็บ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาแนวนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ อาทิ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% จากเดิมอยู่ที่อัตรา 35% ลดลงเหลือ 25% เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ของรัฐบาลที่จะต้องทำภายใน 1 ปี ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน 2.การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม 5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7.การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ

9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 10.การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย และ12.การสนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ