“ออมสิน” จ่อขยายมาตรการลดภาระหนี้ครูถึงสิ้นปี

  • คัดเฉพาะลูกหนี้ ที่เข้ามาเจรจากับธนาคาร
  • ย้ำแก้หนี้ครู ไม่มีความเสี่ยงมาก
  • เพราะมีเงินหลังเกษณียณ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือโครงการแก้หนี้ครู เมื่อปี 2564 นั้น มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 350,000 ราย มีวงเงิน 350,000 -370,000 ล้านบาท เฉลี่ยลูกหนี้ มีหนี้คนละ 1 ล้านบาท 

ทั้งนี้ปัจจุบันเหลือจำนวนที่ยังเป็นหนี้คุณภาพไม่ดี เพียง 4.4% เท่านั้นจากทั้งพอร์ต และเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ธนาคารต้องสำรองเผื่อกรณีเกิดหนี้เสียแล้ว ถือว่าธนาคารไม่ได้กำไรจากส่วนนี้ โดยที่ผ่านมาธนาคารก็มีมาตรการไม่มีการฟ้องร้อง หรือดำเนินการทางคดี ไม่มีการนำทรัพย์ไปขายทอดตลาด ไม่มีการยึดทรัพย์ และไม่ฟ้องล้มละลาย กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้   ธนาคารอยู่ระหว่างหารือ เพื่อขยายโครงแก้ไขหนี้ครูออกไป ถึงสิ้นปี 2565 โดยการขยายโครงการในครั้งนี้ ไม่ใช่การขยายแบบเหมารวมทั้งโครงการ แต่ลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา ต้องเข้ามาคุยกับธนาคาร เพื่อให้เข้ามาปรับโครสร้างหนี้ และช่วยหาทางแก้ไขปัญหาทางการเงิน ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่คงค้างนั้น ธนาคารจะทำการลดให้อยู่แล้ว  

“การขยายโครงการแก้หนี้ หากนานเกินไปอาจทำให้ลูกหนี้เกิดการเสียวินัยทางการเงิน แต่ธนาคารไม่อยากซ้ำเติม จึงขยายไปช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีปัญหาจริงๆ ดึงกลับเข้าแก้ไขหนี้อีกครั้ง และถ้าจะให้ช่วยแบบรีไฟแนนซ์ทั้งหมดอีกครั้ง ก็คิดว่าทำไม่ได้ เพราะเมื่อรีไฟแนนซ์ไป สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต่างๆ ก็ตัดเงินไปก่อน ส่วนของธนาคารได้ทีหลัง ก็ทำให้มีความเสี่ยง ดังนั้นต้องเน้นเฉพาะลูกหนี้ ที่มาเจรจากับออมสิน และต้องการแก้หนี้จริงๆ”

สำหรับโครงการแก้ไขหนี้ครูนั้น ถือว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมาก แม้ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้อาจจะดูไม่มีเงินใช้หนี้ ในช่วงที่กำลังทำงาน แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ จะที่มีเงินเก็บและสวัสดิการค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บำเน็จดำรงชีพ บำเน็จตกทอดกรณีที่เสียชีวิต และบางส่วนอาจมีประกันชีวิต จึงทำให้ไม่ได้เสี่ยงอย่างที่หลายฝ่ายคิด

อย่างไรก็ดี สิงที่จะช่วยได้อีกทางคือ การที่สหกรณ์ช่วยลดดอกเบี้ยลง เพราะบางแห่งยังคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 7-8% ซึ่งถ้าจะให้เหมาะสมที่สุด ก็เหลืออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ก็พอ เพราะธนาคารไม่ได้ต้องการแสวงหากำไร จากมาตรการช่วยเหลือสังคม เพราะธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคม