“ออมสิน”ดีเดย์ 1 เม.ย.64 เริ่มธุรกิจจำนำทะเบียน

  • ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมกระบวนการ
  • โดยศรีสวัสดิ์บริษัทแม่จะนัดประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการร่วมทุนกลางเดือนนี้
  • เป้าหมายสินเชื่อปีแรก 20, 000 ล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัดว่า ภายหลังการลงนามร่วมลงทุนดังกล่าวเมื่อกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารและบริษัท ได้ร่วมวางโครงสร้างของธุรกิจ รวมถึง รายละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ เช่น การวางระบบไอที เอกสารในการขอสินเชื่อ เป็นต้น เพื่อให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อมีความสะดวกและรวดเร็ว คาดว่า จะแล้วเสร็จและเปิดให้ดำเนินธุรกิจได้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือSWAD ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเงินสดทันใจ จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติการร่วมลงทุนดังกล่าวอีกครั้ง

“การเตรียมการดำเนินธุรกิจยังอยู่ในเป้าหมายทั้งหมด ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเปิดตัวการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ต้องการช่วยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนำทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป หรือ อยู่ที่ไม่เกิน 18% ต่อปี ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยในระบบปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 24%”

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อนั้น ยังอยู่ในเป้าหมายเดิม โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ จะยิ่งส่งผลให้ธุรกิจดำเนินไปได้ดี เพราะยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะหันมาพึ่งพาธุรกิจนี้ เพื่อให้มีเงินสดไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งธนาคารและบริษัทเงินสดทันใจก็พร้อมที่จะให้บริการ ถือเป็นทางเลือกทางการเงินในภาวะที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเราจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในระบบ ขณะเดียวกัน การขอสินเชื่อก็ไม่ต้องมีการตรวจสอบเครดิตบูโร

“ปัจจุบันลูกค้าในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนมีอยู่ 3 ล้านราย ยังมีอีกกกว่า 3 ล้านรายที่ยังไม่สามารถเข้าระบบได้ ดังนั้น ธนาคารจึงต้องการที่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ โดยธนาคารมีสาขาที่จะให้บริการจำนวน 1, 000 สาขา บวกกับ ศรีสวัสดิ์อีก 5, 000 สาขา เชื่อว่า จะรองรับการให้บริการสินเชื่อดังกล่าวได้”

ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีแรก คือ จะต้องปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนได้ 1 ล้านราย ยอดสินเชื่อราว 20, 000ล้านบาท และ จะมีผลตอบแทนที่ดีในระยะเวลาอันสั้น จากนั้น คาดว่า ภายใน 3 ปี จะนำธุรกิจที่ร่วมทุนดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“เชื่อว่าธุรกิจนี้จะทำรายได้ให้ธนาคาร แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราสามารถขายหุ้นคืนให้กับบริษัทเงินสดทันใจได้ทันทีในราคาทุน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญา ขณะที่ บริษัท ไม่สามารถขอซื้อหุ้นจากธนาคารได้”

สำหรับการร่วมลงทุนครั้งนี้ ธนาคารจะเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทเงินสดทันใจในสัดส่วนไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในจำนวนเงินไม่เกิน 1, 500 ล้านบาท