“อนุสรณ์” เสนอเปลี่ยนกองทุนประกันสังคม เป็น “องค์กรอิสระ”

  • แนะตั้งคณะทำงานตรวจสอบการลงทุน
  • ของกองทุนประกันสังคมในศรีพันวา
  • สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกันตนในระบบ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยในการบรรยายงานเสวนา “ฟังเสียงเจ้าของเงิน ประชาชนต้องมีสิทธิบริหารประกันสังคม” ว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยเกิดความวิตกต่อเงินสมทบของตนเองในกองทุนประกันสังคม หลังจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในบริษัทศรีพันวาในสัดส่วนที่สูงและบริษัทประสบการขาดทุนมาก จึงขอเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานในการเข้าไปตรวจสอบการลงทุนดังกล่าวด้วย

และคณะทำงานชุดนี้ควรตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่ประกันสังคมลงทุนแล้วขาดทุนมากกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนในตลาดการเงินมาก เพื่อปกป้องความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตนและนายจ้างจะได้เกิดความสบายใจว่า เงินที่ได้จ่ายสมทบมาจะได้รับการบริหารเงินทุนด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีค่าเฉลี่ยดีกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนของตลาดสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและข้อกำหนดในการลงทุนแบบเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การทบทวนนโยบายการลงทุนและประเมินผลบรรดาผู้จัดการลงทุนที่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างมากในช่วงตลาดการเงินผันผวนและเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมจากหน่วยราชการมาเป็น องค์กรอิสระที่เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ องค์กรแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนการได้มาซึ่งกรรมการกองทุนประกันสังคมจำนวนหนึ่งควรมาจากการเลือกตั้งของลูกจ้างผู้ประกันตนและนายจ้างโดยตรง ซึ่งทางสำนักประกันสังคมได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้วโดยการตั้งเป็น อนุกรรมการยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการการประกันสังคม และการศึกษาได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วอยู่ที่ระดับนโยบายว่าจะตัดสินใจอย่างไรเท่านั้น

“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้มีการเสนอให้มีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงความยั่งยืนทางการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ชราภาพ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน การขยายระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การลดเงินสมทบช่วงโควิด-19 (Covid-19) การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรอืเจ็บป่วยมาตรา 40 การเพิ่มสิทธิประโยชน์”

และการออมเงินโดยสมัครใจมาตรา 33 และ 39 เป็นต้น โดยรวมแล้วการดำเนินการที่ผ่านเป็นการเพิ่มสวัสดิการและลดเงินสมทบให้กับผู้ประกับตนมากขึ้น ดังนั้นจึงมีเงินไหลออกจากเงินกองทุนมากกว่าเงินไหลเข้า ด้านเงินไหลเข้านั้น กองทุนประกันสังคมก็ได้ขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น

และอาจทำให้มีคนว่างงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ว่างงานแฝงและทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน เงินจากกองทุนประกันการว่างงานจะไหลออกมากกว่าภาวะปรกติมาก ขณะเดียวกันภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและบอร์ดกองทุนประกันก็ได้ลดอัตราการจ่ายสมทบ หากภาวะดังกล่าวจะคงดำรงอยู่ต่อเนื่องไปอีก 3-4 ปี เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวบ้างแล้ว มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเพื่อให้มีเงินดูแลสวัสดิการต่างๆให้กับผู้ประกันตนได้อย่างเพียงพอ สถานะของเงินกองทุนประกันสังคมยังคงมั่นคงแต่ต้องปฏิรูปเพื่อให้กองทุนชราภาพมีความยั่งยืนในระยะ 50 ปีข้างหน้าด้วยการเก็บเงินสมทบเพิ่มเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว