“อนุทิน”ฝากอสม.เป็นกระบอกเสียงชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับการฉีดวัคซีนโควิด 19

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมให้กำลังใจ อสม. เขตสุขภาพที่ 10เนื่องในวัน อสม.แห่งชาติ
  • เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความรุนแรงของโรคเน้นย้ำให้กระตุ้นเตือนทุกคนการ์ดอย่าตก
  • พร้อมบอกต่อคนในชุมชนสร้างรายได้จากการปลูกกัญชาถูกกฎหมาย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เขตสุขภาพที่ 10 เนื่องในวัน อสม.แห่งชาติ โดยนายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน อสม.แห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติ อสม.กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นคน ทั่วประเทศ ที่เป็นจิตอาสา
ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ เป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด อสม. ได้ออกเคาะประตูบ้านติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ทำให้การป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ของโรคโควิด 19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รัฐบาลยังคงมีนโยบายสนับสนุน อสม. ต่อเนื่อง โดยจัดหาค่าเสี่ยงภัยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับ อสม. ที่ทุ่มเทเสียสละทำงานให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทย ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับบุคลากร
ทางการแพทย์ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาเพิ่มเป็นระยะอีกรวม 61 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนภายในปีนี้ จึงได้มอบให้ อสม. ช่วยเป็นกระบอกเสียงเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกคนในพื้นที่มารับฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ติดตามอาการหลังฉีดวัคซีน และติดตามการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนด เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต ลดเวลาการป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่สำคัญจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน และย้ำเตือนประชาชนให้ป้องกันตนเอง การ์ดไม่ตก เพราะแม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง จึงยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ชุมชน สถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว และลดการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน ส่วนสิ่งที่ขอให้อสม. ยังคงทำต่อเนื่องโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ การเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้ผ่านการคัดกรองกักกันโรคตามระบบ อาจนำเชื้อโควิด 19 มาแพร่ให้กับคนในชุมชนได้ หากพบขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา 6 ต้นต่อครัวเรือน กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ และนำส่วนอื่นๆ เช่น ใบ กิ่งก้าน ราก ไปใช้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้โดยต้องศึกษาข้อมูลและดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ อสม. ช่วยบอกต่อผู้ที่มีความต้องการปลูกกัญชาเสริมสร้างรายได้ ให้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อขอรับการปลูก และนำส่วนประกอบต่างๆ ขายให้กับโรงพยาบาลที่ได้ทำสัญญาร่วมกันเพื่อผลิตเป็นยา หรือขายให้กับภาคอุตสาหกรรม หรือนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร เครื่องสำอาง ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 10 ครอบคลุม 5 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญและมุกดาหาร มีพื้นที่ปลูกกัญชาแล้วในโรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 26 แห่ง โครงการกัญชา 6 ต้น ต่อครัวเรือน อำเภอละ 1 แห่งรวมทั้งสิ้น 70 แห่ง โดยส่งให้กับโรงงานผลิตมาตรฐาน WHO- GMP ของโรงพยาบาลพนา จ.อำนาจเจริญ และรพ.สต.ผลิตเป็นยาปรุงตำรับแพทย์แผนไทย ซึ่งส่วนที่เป็นยาเสพติด ได้แก่ ช่อดอก ได้นำไปผลิตเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน, สูตรน้ำมันกัญชา (อ.เดชา), ยาตำรับแพทย์แผนไทย 11 ตำรับ ส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด ต้น ใบ ก้าน ราก นำไปผลิตเป็นยาตำรับแพทย์แผนไทย 5 ตำรับ, แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ