“อนาคตใหม่”ชี้ ครม.เศรษฐกิจส่วนใหญ่ คนหน้าเดิมให้ความเชื่อมั่นเท่า 5 ปีก่อน

  • รอดูผลงานคนใหม่ “พาณิชย์-เกษตร”
  • ชี้จีดีพีไม่สะท้อนชีวิตจริงของประชาชน
  • ห่วงว่ามาตรการกระตุ้นจะผิดพลาด

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ ได้แถลง ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแถลงลดเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จากหลายสำนักฯ เช่น ธนาคารโลก และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) ซึ่งลดเป้าอัตราเติบโตจีดีพีปีนี้ เหลือ 2.9 – 3.3% เป็นสัญญาณที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแค่จีดีพีลดลงจะเห็นว่ามีสาเหตุมาจากแค่ปัจจัยภายนอก


“การดูแค่เป้าหมายจีดีพีพลาดเป้า อาจจะเป็นเป้าที่พลาด เพราะตัวเลขจีดีพีเป็นตัวเลขภาพรวม ที่อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่จริงของประชาชน ถ้าเราไปดูในรายละเอียด จีดีพีที่โต 2.8% ในไตรมาส 1 ไม่ได้สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกรโตต่ำกว่านั้น ชาวนารายได้ลดลง 5% ชาวไร่อ้อยรายได้ลด 27% ชาวสวนปาล์มรายได้ลดลงประมาณ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รายได้ของแรงงานไม่โตเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ค่าแรงขั้นต่ำของปี 2562 ยังไม่ได้ประกาศ หลังจากล่าช้ามาแล้ว 3 เดือน แต่ส่วนหนี้ครัวเรือนนั้นโตเร็วกว่าทุกตัวเพิ่มขึ้น 6.5% ในไตรมาส 1”


ทั้งนี้ จึงเป็นห่วงว่ามาตรการกระตุ้นอาจจะพลาด ถ้าโฟกัสแค่จีดีพี เวลาที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริโภคภาคเอกชน กลุ่มเป้าหมายที่อยากให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นใคร ที่ผ่านมาได้มีการประเมินผลกระทบหรือไม่ เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่กระตุ้นไปที่ชนชั้นกลาง เกิดผลกระทบไปยังภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะรากหญ้าหรือไม่ การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนก็เช่นกัน ถ้าเราดูแค่ตัวเลขสุดท้าย เราก็อาจจะกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ละเลย SME ที่กำลังมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้น และมีอัตรา NPL สูงสุดเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ และที่สำคัญคือการส่งออกที่เป็นสัดส่วนสูงสุดในจีดีพี ถ้าเราอยากกระตุ้นให้ส่งออกกลับมาดี เราอาจเลือกมาตรการอย่างการทำให้ค่าเงินบาทอ่อน”


นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า “พรรคอนาคตใหม่มองว่าปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไป แข็งค่าเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในภูมิภาค และสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ค่าเงินบาทแข็งเนื่องจากเงินร้อนหรือ Hot Money จากต่างประเทศเพื่อพักเงินก่อนส่งต่อไปยังประเทศอื่น ไม่ได้เป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง มาตรการที่ควรออกมาควรเป็นการจัดการไม่ให้เกิดการผันผวนมากจนเกินไป ผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นภาคส่งออก แต่อย่างไรก็ดีภาคส่งออกเป็นภาคที่มีความกระจุกตัวสูง 50 บริษัทส่งออกรายใหญ่สุด มีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกสูงถึง 40% บริษัทขนาดใหญ่น่าจะมีศักยภาพที่จะรับมือได้ แต่สำหรับ SME ที่ส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบมากสุด ข้อเสนอคือต้องทำให้ SME เข้าถึงเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในต้นทุนต่ำ และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น


นอกจากนี้ อีกภาคเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงว่าจะได้รับผลกระทบคือภาคท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ในเดือนพ.ค. 62 ซึ่งยังต้องไปดูว่าการที่ภาคท่องเที่ยวชะลอตัวนั้นเป็นปัญหาของค่าเงินหรือไม่ การแก้ปัญหาในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมวีซ่าหรือการขยายระยะเวลาพำนัก เป็นต้น


“ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ ก็มีคนที่ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เช่น ประชาชนซื้อของนำเข้ามาในราคาถูกที่ถูกลง และยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชนที่จะเพิ่มการลงทุน เนื่องจากราคาเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่นำเข้าก็จะมีราคาถูกลงเช่นเดียวกัน รัฐบาลควรให้ความสนับสนุน แต่อย่างไรก็ดี ก็มีความเห็นใจภาคเอกชนที่อาจจะยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้ เพราะเห็นว่า 100 วันแล้วรัฐบาลยังจัดตั้งไม่เสร็จ หรือถึงจัดตั้งก็มีเสถียรภาพน้อยมาก”


นอกจากนี้ ศิริกัญญา กล่าวว่านโยบายของพรรคอนาคตใหม่เป็นที่สาธารณะอยู่แล้ว พร้อมยินดีให้ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่จะนำเสนอนโยบายของพรรคผ่านการอภิปรายในสภาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้นาง ศิริกัญญาเชื่อว่า ครม. ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ ซึ่งเป็นหน้าเดิมส่วนใหญ่ จะสร้างความเชื่อมั่นได้เท่าๆ กับ 5 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องรอดูผลงานต่อไป