“หมอยง” เผยโควิด-19 กับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้ควรตรวจประเทศที่ไทยไม่มีสายพันธุ์นั้น เพื่อป้องการระบาดให้ช้าที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ม.ค.66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan โดยมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่อง “โควิด-19” ดังนี้…

โควิด 19 การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ยง ภู่วรวรรณ

ราชบัณฑิต

3 มกราคม 2566

จากการศึกษา วิเคราะห์การระบาดของไวรัสโควิด 19  ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา สายพันธุ์เริ่มจากอังกฤษก่อนหลายเดือน ในปลายปี  2563 และถึงแม้ว่าเราปิดบ้านปิดเมือง มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 14 วัน ในที่สุด สายพันธุ์นี้ก็มาระบาดในบ้านเราในเดือนมีนาคม  2564 เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์เดลต้า จุดเริ่มต้นที่อินเดียแล้วไประบาดในยุโรปและอเมริกา เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการระบาดในประเทศทางตะวันตก ขณะนั้นก็มีการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ เช่นเดียวกัน 

สายพันธุ์ โอมิครอน ก็เช่นเดียวกันเราเกิดหลังประเทศทางตะวันตกทั้งนั้น ขณะนี้บ้านเราเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ดังรูปในขณะที่ยุโรปและอเมริกาได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้ทางอเมริกาและตะวันตกกำลังทั่วโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่สายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 ดังแสดงในรูป ซึ่งคาดว่าต่อไปของเราก็คงระบาดตามมา สายพันธุ์ดังกล่าวจะดื้อต่อภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

ในขณะที่การระบาดในประเทศจีนขณะนี้ ยังเป็น BA.5 และลูกของ BA.5 คือ BF.7 ดังแสดงในรูป ที่มีความคล้ายคลึงกับ BA.5  ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว หรือ จีนตามหลังเรา คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีภูมิต้านทานต่อตัวนี้แล้วเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดในผู้ป่วยจำนวนมาก โอกาสจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้ด้วย

จากเหตุผลตามสายพันธุ์ จะให้ตรวจหรือป้องกัน ขณะนี้เราควรป้องกันสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว 

ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ประเทศต้นทางที่น่าจะตรวจ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ของเรา ควรจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด

อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็น โอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย และทั่วโลกก็ยอมรับว่า สายพันธุ์นี้ยังระบาดอยู่ทั่วโลก