“สุเมธ” ปิ๊งไอเดียเทรดเครื่องบินเก่า แลกใหม่

  • เป็นทางเลือกจัดหาฝูงบินเสริมทัพ ลั่นจะช่วยลดกรอบวงเงินไม่สูงถึง 1.56 แสนล้านบาท
  • ยันซื้อเครื่องบินเป็นการลงทุนไม่เกี่ยวกับสถานะกำไรขาดทุน
  • เตรียมประชุมบอร์ด 27 ส.ค.นี้ตอบทุกข้อสงสัยสังคม

นายสุเมธ  ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับแผนการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำมูลค่ากว่า 1.56 แสนล้านบาท ของการบินไทยเพื่อมาเสริมศักยภาพของฝูงบิน และสร้างรายได้นั้น ขณะนี้ขั้นตอนหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล การเสนอแผนการจัดหาดังกล่าวก็ได้กลับมาที่การบินไทย เพื่อให้การบินไทยจัดทำข้อเสนอ รายละเอียด ยืนยันในกรอบการจัดหาเดิม พร้อมทั้งทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถตอบสังคมได้อย่างครบถ้วนถึงความจำเป็นในการจัดหา และรูปแบบการดำเนินการ ก่อนที่จะเสนอเข้าบอร์ดการบินไทยอีกครั้งในวันที่ 27 ส.ค. หลังจากนั้นก็จะเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคม และเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับแนวทางในการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำนั้นจากการพิจารณาอย่างรอบด้าน พบว่า แนวทางการ  ซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องบิน จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดมากกว่า การซื้อ การเช่า และการเช่าซื้อ โดยในปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบินที่ทำการบินอยู่ราว 103 ลำ เฉลี่ยอายุเครื่องบินอยู่ที่ 15 ปี อาทิ โบอิ้ง 747 มีอายุอยู่ที่ 19 – 26 ปี โบอิ้ง 777 – 200 และ โบอิ้ง 777 – 300 มีอายุเฉลี่ยเกือบ 20 ปี โดยภาพรวมของฝูงบินที่ใช้อยู่จะพบว่ามีจำนวนกว่า 30 ลำ ที่เข้าข่ายเครื่องบินชราภาพ และในจำนวนฝูงบินเหล่านี้จะมีต้นทุนค่าซ่อมสูง โดยเฉพาะ D-Check (Overhaul) ซึ่งเป็นการซ่อมใหญ่ มีต้นทุนค่าซ่อมคิดเป็น 20% ของราคาเครื่องบินใหม่ ดังนั้นการจัดหาเครื่องบินใหม่ จะทำให้การบินไทยสามารถลดต้นทุนเหล่านี้ได้ 

“ข้อดีของการแลกเปลี่ยนเครื่องบินจะทำให้ จำนวนเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อ จัดหา แลกเปลี่ยนเครื่องบินลดลงจากเดิมที่มีการประเมินไว้ ขณะเดียวกันจะทำให้ไม่มีเครื่องบินจอดรอการขายให้เป็นประเด็นในภายหลังได้ นอกจากนั้นราคาที่แลกเปลี่ยนเครื่องบินในช่วงที่จะแลกเปลี่ยน ราคาเครื่องจะไม่ราคาตก ทำให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการได้จบในขั้นตอนเดียว “

นายสุเมธ กล่าวยืนยันว่า การลงทุน กับกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะหากการบินไทยไม่ลงทุนเครื่องบินใหม่ ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38ลำ ถือเป็นการลงทุนที่นำมาสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในอนาคตของการบินไทย  แม้ว่าในปัจจุบันการบินไทยจะประสบปัญหาภาวะขาดทุนกว่า 6,000 ล้านบาทในปีนี้ 

ส่วนกรณีที่มีข่าวลือจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าการบินไทยอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลายนั้น ขอยืนยันไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย โดยปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินลดลง คือ หนี้สินระยะยาวลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท และหนี้สินรวมของบริษัทฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวม ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 จำนวน 248,264 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 จำนวน 245,447 ล้านบาท

นอกจากนั้นจะพบว่า การบินไทยมีทุนจดทะเบียนเพียง 26,989 ล้านบาท น้อยกว่าสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกันมาก อาทิ เจแปนแอร์ไลน์มีทุนจดทะเบียน 52,443 ล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีทุนจดทะเบียน 92,187 ล้านบาท และคาเธ่ย์แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 68,032 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียนของการบินไทยที่มีน้อยกว่า การบินไทยสามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ 12 เท่า