“สุริยะ” เปิดทาง “เหมืองทองคำ” ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษภายใต้กฎหมายใหม่ได้

  • ล่าสุดมีเอกชนยื่นขอ10รายรวม100แปลง
  • พร้อมเจรจาคิงส์เกตก่อนขึ้นศาลเดือนพ.ย.นี้
  • ผลกระทบต่อประชาชนต้องดูว่าเกิดจากเหมืองหรือไม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทวงอุตสาหกรรม ยังคงเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทยสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) และต้องเป็นไปตามนโยบายแร่ทองคำ นั่นหมายถึง เหมืองทองคำจะต้องมีข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วยข้อมูลในพื้นที่ก่อนการทำเหมืองแร่ มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนในพื้นที่ มีมาตรการดูแลชุมชนที่ชัดเจน ที่สำคัญจะต้องไม่ส่งผลกระทบทุกด้านทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ รวมทั้งเหมืองทองคำจะต้องสร้างประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

สำหรับ กรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จำกัดจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ได้ขอเจรจากับรัฐบาลไทย เพื่อขอยุติข้อพิพาทหลังจากมีการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการกรณีที่ รัฐบาลไทยใช้มาตรา44 ปิดกิจการไปแล้วโดย แนวทางการเจรจาระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับภาคเอกชนคือภาคเอกชนจะต้องอยู่ได้ และรัฐบาลก็จะต้องไม่เสียเปรียบ และมีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งหากตกลงกันได้ ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2-3 เดือน ก่อนขึ้นศาลที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ จากนั้นตามกระบวนการคิงส์เกตฯ ก็จะทำการถอนฟ้องรัฐบาลไทย เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ไม่ต้องขึ้นศาล

นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องของผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ยังคงเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่เหมืองทองคำดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ต้องไปพิสูจน์และเอาข้อมูลมาดูกันอีกครั้งว่า หากเกิดขึ้นจริงมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนมีปัญหาสุขภาพจริง แต่ประเด็นคือสาเหตุจากเหมืองทองหรือไม่ เช่นกรณีของบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ผลการศึกษามีข้อบ่งชี้ว่า พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้า แสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทปจริง เราก็ต้องเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพน้ำ โดยกรมน้ำบาดาลจะช่วยเข้ามาดูระบบการกรองน้ำ เป็นการช่วยเยียวยาเป็นต้น

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 10 ราย พื้นที่รวม 100 แปลง โพื้นที่เป้าหมายคือ 12 จังหวัด ประกอบด้วยเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สตูล ส่วนของบริษัท อัคราฯ มีคำขอต่ออายุประทานบัตร 1 แปลง อาชญาบัตรสำรวจแร่อีกหลาย 10 แปลง และคำขอต่อใบประกอบโรงโลหะกรรมอีก 1 แห่ง แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการอนุมติใบอนุญาตใดๆ ซึ่งหากอัคราฯ ยังคงต้องการดำเนินประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องยื่นคำขอใหม่ แต่จะต้องนำส่งข้อมูลเพิ่มเติม ตามพ.ร.บ.ใหม่ที่กำหนดไว้เท่านั้น