สุริยะ”สั่งสมอ.จับตาสินค้าไม่ได้มาตรฐานมอก.ที่จีนอาจส่งเข้ามาในอาเซียน

  • ทดแทนการส่งออกไปที่สหรัฐฯ 
  • เอกชน ไม่ไว้ใจสถานการณ์ศึกในศึกนอกป่วน
  • เร่งศึกษารับมือแรงกระแทกสงครามการค้าบานปลาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  เตรียมมาตรการรับมือผลกระทบจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่คาดว่าจะ ยืดเยื้อยาวนาน และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่อาจได้รับผลกระทบจากการทะลักของสินค้าจากจีนเข้ามาในไทยและอาเซียน เช่น สินค้ากลุ่มเหล็ก กลุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่น ซึ่งเป็นสินค้ามาตรฐานบังคับที่ สมอ. ควบคุม และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้เตรียมรับมือต่อผลกระทบดังกล่าวไว้แล้ว โดยเฝ้าจับตาการนำเข้าสินค้าอย่างใกล้ชิด หากพบสินค้าชนิดใดมีการนำเข้าในปริมาณมากผิดปกติ จะเข้าตรวจสอบอย่างเข้มงวดทันที รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของนักลงทุนจากจีน ที่มาลงทุนทำสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน และในกรณีสินค้านั้นๆ ยังไม่ได้มีการกำหนดให้เป็นสินค้าบังคับ หากประเมินแล้วว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศสมอ.ก็ จะใช้กลไก พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ได้มีการแก้ไขใหม่แล้ว ประกาศให้สินค้านั้นๆ เป็นสินค้ามาตรฐานบังคับที่ต้องถูกควบคุมทันที และจะเร่งกำหนดมาตรฐานกับสินค้าที่ยังไม่มีการกำหนดเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)และ  หากมีความจำเป็น สมอ. อาจใช้ข้อกำหนดหรือใช้มาตรฐานที่สากลมีอยู่แล้ว มาประกาศใช้เป็นมาตรฐานได้เลย และจะใช้โอกาส เชิญชวนนักลงทุนจากจีนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. )ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน ส.อ.ท. กล่าวว่า  ได้เร่งศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม หลังจากที่สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนอีก  10% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. มีผลกับสินค้านำเข้ามูลค่ารวม 300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ  ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่จีนมีการตอบโต้สหรัฐด้วยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในส.ค.นี้

  “ก่อนหน้านี้คณะทำงานได้ศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนในส่วนของการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน รอบแรกมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งครั้งนั้นผลการศึกษาพบว่า ไทยได้รับผลกระทบไม่มากนักในภาพรวม แต่เมื่อจีนใช้นโยบายค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมา  สหรัฐฯจึงตอบโต้การขึ้นภาษีฯที่เหลือของจีน ขณะที่สองฝ่ายยังไม่สามารถทำข้อตกลงยุติสงครามการค้ากันได้ และมีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะบานปลายกลายเป็นสงครามค่าเงินทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเหล่านี้ย่อมทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น”

           ขณะเดียวกัน ผลการศึกษายังจะมีการวิเคราะห์กรณีหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเข้าไปผนวกด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีปัจจัยนี้เข้ามาแล้วทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร นอกเหนือจากปัจจัยด้านสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพื่อที่จะส่งสัญญาณให้ภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้นำไปกำหนดนโยบายและมาตรการในการรองรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น