“สุรพงษ์”ฝันรถไฟไทยปีหน้าไม่ขาดทุน

“สุรพงษ์”สั่งการบ้านรถไฟแยกบัญชีเชิงพาณิชย์ -สังคมออกจากกัน งบฯปี 67บัญชี ต้องเป็นบวก พร้อมไฟเขียวให้ รฟท.ปรับราคาค่าโดยสารตามต้นทุนที่แท้จริงแต่ยังคงช่วยเหลือประชาชนรถไฟชั้น3อยู่ สั่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มสัดส่วนขนส่งสินค้าทางรางจาก 3%เป็น30%ในปีนี้ พร้อมทบทวน ปรับแผนสร้างทางคู่ใหม่ ดึง ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มาสร้างก่อนมั่นใจเพิ่มการขนส่งสินค้าชายแดน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยให้เป้าหมายว่าในงบประมาณปี 67 รฟท.จะต้องไม่มีตัวเลขทางบัญชีในการดำเนินงานติดลบตัวแดงทางบัญชีอย่างเด็ดขาด แม้ว่าปัจจุบัน รฟท. จะประสบปัญหาขาดทุนมีหนี้สินสะสมกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่ให้ รฟท.เพิ่มสัดส่วนการใช้รางในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้ในสัดส่วน 3% เพิ่มเป็น 30% หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท ภายใน ไตรมาส 1 ปี 67 

นอกจากนั้นในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารให้ รฟท. เน้นการเพิ่มปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันคนเดินทางรถไฟมีสัดส่วนเพียง 2 %เมื่อเทียบกับการเดินทางในโหมดอื่น ๆ ขณะเดียวกันให้กระตุ้นคนมาเดินทางกับรถไฟแบบท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เชื่อมั่นว่าจะสร้างรายได้ให้ รฟท. เพิ่มขึ้น ส่วนการปรับค่าโดยสารรถไฟนั้นยอมรับว่า รฟท. ไม่มีการปรับราคาค่าโดยสารมากว่า 25 ปี ปรับราคาค่าโดยสารครั้งสุดท้ายเมื่อปี 38 อย่างไรก็ตามให้ รฟท. ไปพิจารณาดูราคาค่าโดยสารตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงในชั้น 1 และ 2 ส่วนชั้น3 เป็นชั้นที่ให้บริการผู้มีรายได้น้อย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นตนยังได้สั่งการให้ รฟท. ปรับแผนการดำเนินการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 2 จาก 7 เส้นทางใหม่ โดยในปีงบประมาณ 67 นี้ ให้ปรับแผนนำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่  3 โครงการ มาดำเนินการก่อนประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง45 กม. วงเงินงบประมาณ 7,864.49 ล้านบาท , 2.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ -เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. มูลค่า 59,399.80 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟทางคู่ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่า 29,748.00 ล้านบาท 

โดยทั้ง 3 โครงการจะเข้าบอร์ด รฟท. และ เข้าเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณ เดือน พ.ย.66นี้ สำหรับสาเหตุที่ให้ปรับเปลี่ยนนำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  มาเร่งดำเนินการเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นตัวกระตุ้นการเดินทางไปยังภาคใต้ และขนส่งสินค้าชายแดนให้มากขึ้น 

นอกจากนั้นให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง ส่วนต่อขยาย 3 โครงการ ให้ดำเนินการได้ภายในปี 67 สำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท