สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย สหประชาชาติคาดภายในปี 2572 ไทยอาจก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด เป็นโจทย์สำคัญ เพราะไม่มีรายได้และมีเงินออมไม่เพียงพอ

  • ไทยมี 2 แบงรัฐปล่อยสินเชื่อผู้สูงอายุตั้งแต่ปี61
  • แต่ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ
  • รัฐ ต้องเร่งหามาตรการช่่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุ โดยระบุว่า ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่รายได้สูง อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งส่วนมากมีระบบสวัสดิการภาครัฐที่ให้ความคุ้มครองสภาพชีวิตหลังเกษียณของประชากรได้ค่อนข้างดี แต่สำหรับประเทศไทยนั้น สหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2572 หรืออีกไม่ถึง 6 ปีข้างหน้า ไทยอาจจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-aged Society) ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในการประคับประคองประชากรจำนวนมากที่ไม่มีรายได้และมีเงินออมไม่เพียงพอ

ประเทศพัฒนาที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนไทย มีบริการสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองและนำมาจำนองเป็นหลักประกัน (Reverse Mortgage) ซึ่งกระทรวงการคลังของไทย มีนโยบายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เปิดบริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสได้รับสินเชื่อในรูปแบบเงินได้รายเดือนโดยนำบ้านที่อยู่อาศัยมาจำนองเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเงินได้สำหรับเลี้ยงชีพอันเป็นการบรรเทาปัญหาผู้สูงอายุที่มีเงินออมไม่เพียงพอ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

 ปัจจุบันธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อประเภทนี้ยังมีเพียงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้บริการสินเชื่อ Reverse Mortgage น่าจะอยู่ในวงจำกัด เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวมของสถาบันการเงินรัฐ หรือสถาบันการเงินในระบบ ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากลักษณะผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระบวนการให้สินเชื่อแบบย้อนกลับ ทำให้ตลอดช่วงระยะเวลาสัญญากู้ยืม 20-25 ปีนั้น สถาบันการเงินไม่มีรายได้จริงเกิดขึ้นจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของหลักประกัน 2 กรณี คือ (1) มูลค่าหลักประกันที่จำหน่ายได้ในอนาคตอาจอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลหนี้รวม และ (2) หากอายุขัยของผู้กู้ยืมยาวนานกว่า 80-85 ปีตามสัญญา อาจทำให้การจำหน่ายหลักประกันเพื่อรับชำระหนี้ต้องยืดเยื้อออกไปและเพิ่มภาระทางการเงินต่อธนาคารที่ให้กู้ยืม สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่เกิดกับไทยเท่านั้น แต่รวมถึงต่างประเทศที่มีบริการสินเชื่อประเภทนี้มาก่อน1 อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งภาครัฐของต่างประเทศบางแห่งได้จัดให้มีหน่วยงานกลางที่มีบทบาทในการช่วยชดเชยผลขาดทุนกรณีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่ามูลหนี้ ดังเช่น ในสหรัฐฯ มีหน่วยงาน Federal Housing Administration (FHA) ทำหน้าที่รับประกันราคาบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สถาบันการเงิน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการผลักดันให้ Reverse Mortgage มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ดังนั้น จึงยังมีเพียงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่เปิดให้บริการในฐานะสินเชื่อนโยบายรัฐประเภทหนึ่ง

สำหรับประโยชน์ที่ผู้กู้ยืมจะได้รับจากการใช้บริการ Reverse Mortgage ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่มาก กล่าวคือ กรณีที่หลักประกันมีมูลค่าไม่สูง (เฉลี่ยมูลค่าบ้านที่คนไทยส่วนใหญ่ถือครองมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท) วงเงินสินเชื่อรายเดือนที่ได้รับ อาจไม่เพียงพอแก้ไขสถานะความเปราะบางทางการเงินของผู้สูงอายุที่ไม่มีทรัพย์สินอื่นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสัดส่วนเงินรายเดือนที่ได้รับอยู่ในระดับไม่ถึง 0.2-0.3% ของมูลค่าหลักประกัน (คำนวณจากเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่กำหนดวงเงินสินเชื่อ 70% ของมูลค่าหลักประกัน แบ่งจ่ายเป็นเงินรายเดือน 240-300 งวด หรือถึงอายุ 85 ปี) ซึ่งถ้าหลักประกันมูลค่า 3 ล้านบาท ผู้กู้จะได้รับเงินรายเดือนเฉลี่ย 6,000-8,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ประกัน ค่าส่วนกลาง และค่าดอกเบี้ยที่จะถูกคำนวณรวมและหักออกจากเงินงวดรายเดือน อีกทั้งหากมีคู่สมรสกู้ร่วม เงินจำนวนดังกล่าวยังต้องแบ่งใช้ 2 คน

 นั่นหมายความว่า หากต้องการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ Reverse Mortgage แพร่หลายมากขึ้น คงต้องอาศัยการแก้ไขประเด็นปลีกย่อยต่าง ๆ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน รวมถึงเสริมกลไกช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้บริการนี้ตอบโจทย์ประชากรสูงอายุของไทยได้มากขึ้นในอนาคต อาทิ การกำหนดสัดส่วนวงเงินสินเชื่อต่อราคาหลักประกันเพื่อให้สะท้อนมูลค่าเพิ่มในอนาคตที่ต่างกัน โดยอาจพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อในสัดส่วน 70-90% ขึ้นอยู่กับประเภทหลักประกันและพื้นที่ของหลักประกัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสของวงเงินส่วนเพิ่มจากการประเมินราคาด้วยวิธีมาตรฐานทั่วไป ตลอดจนการสร้างกลไกการอุดหนุน/ชดเชยความเสียหายที่จำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืม เนื่องจากกรณีที่ราคาขายสูงกว่ามูลหนี้ สถาบันการเงินต้องคืนกำไรส่วนต่างให้กับทายาทหรือตามที่ตกลงไว้