“สาธิต” หนุน จันทบุรี นำร่องโครงการอาหารเป็นยา สร้างชื่อเสียงอาหารไทยไปทั่วโลก

  • “วิถีคนจันท์” นำสมุนไพรมาประกอบเป็นอาหารตามหลักแพทย์แผนไทย
  • เสริมสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน
  • เตรียมขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 14 จังหวัดเมืองสมุนไพร

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนโครงการอาหารเป็นยา “วิถีคนจันท์” โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนมหาวิทยาลัย ส่วนราชการ และภาคเอกชน ร่วมประชุม ว่าจังหวัดจันทบุรีมีชื่อเสียงทางด้านสมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศ เป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ (อำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร,นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา) มีพืชสมุนไพรที่หลากหลาย เช่น พริกไทย กระวาน ชะมวง มังคุด เป็นต้น จึงได้รับการผลักดันให้เป็นจังหวัดนำร่องโครงการอาหารเป็นยา “วิถีคนจันท์” เพื่อให้คนไทยใช้องค์ความรู้ของการแพทย์แผนไทยนำสมุนไพรมาประกอบเป็นอาหารสร้างเสริมสุขภาพ โดยชู “กระวาน” ซึ่งมีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นพืชสมุนไพรหลักในการขับเคลื่อน อาทิ ให้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการออกเมนูแนะนำพร้อมชี้แจงคุณค่าของอาหารผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด การจัดมหกรรมสมุนไพร ซึ่งจะดำเนินไปพร้อมกันทั้ง 14 จังหวัด เพื่อให้มีการนำสมุนไพรมาใช้มากขึ้น สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทำให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับและอาหารไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ซึ่งหากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ คาดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีมีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร มีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรกว่า 4,600 ไร่ สมุนไพรสำคัญ 3 อันดับแรกคือ พริกไทย กระวาน และขมิ้นชัน โดยมีโรงพยาบาลเขาคิชฌกูฏเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน GMP สนับสนุนให้กับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ถึง 26 ชนิด กำลังการผลิต 4,000,000 แคปซูลต่อปี มีสถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร 232 แห่ง สร้าง Premium Product 5 รายการ เข้าสู่ตลาดสมุนไพร พร้อมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา นอกจากนี้ สนับสนุนให้มียาสมุนไพรใช้ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง โดยจัดทำกรอบบัญชียาสมุนไพรสำหรับโรงพยาบาลชุมชน / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และใช้ยาสมุนไพรดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นลำดับแรก