“สาธารณสุข”ตั้งทีมทำงานเร่งนำผู้ติดโควิด 19 กทม.ทุกรายเข้าสู่การรักษา

  • สาธารณสุข ระดมทุกฝ่าย เร่งรักษาผู้ป่วยโควิด 19
  • จัดทำ Hospitel เพื่อให้มีเตียงรองรับมากขึ้น
  • จัดทำคู่มือดูแลผู้ติดเชื้อ กรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรางานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกับโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครทุกเครือข่าย

นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 จะนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีการเปิด Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้มีเตียงในการรองรับมากขึ้น แต่ยังมีผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพมหานครบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างรอเตียงจึงมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งทีมคณะทำงานหารือการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาโดยเฉพาะ โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้ามาร่วมประสานกับทางศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ในการช่วยกันนำส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาให้รวดเร็วคล่องตัวมากขึ้น โดยสายด่วนทั้ง 1330 1668 และ 1669 จะมีการติดตามผู้ติดเชื้อทุกรายให้เข้าสู่การรักษาทั้งหมดโดยเร็ว

นอกจากนี้ ขอให้โรงพยาบาลทุกเครือข่ายเร่งรัดการจัดทำ Hospitel เพื่อให้มีเตียงรองรับมากขึ้น รวมถึงการจัดหาเตียงไอซียูให้มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่อาจมีอาการเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการรับส่งต่อจากโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ที่มีอาการ รวมถึงมอบให้กรมการแพทย์เตรียมจัดทำคู่มือแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านหากอนาคตมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในบ้านหรือห้องพักคนเดียว ไม่มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในครอบครัว เนื่องจากจะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน เพราะอาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งในวัยหนุ่มสาวพบว่ามีปอดบวมทั้งที่ไม่มีอาการ เพื่อให้ดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างปลอดภัย

“ขอให้ประชาชนอย่าช้อปปิ้งตรวจแล็บหาเชื้อโควิด 19 รวมถึงการโทรประสานหาเตียงซ้ำซ้อน ทั้งโทรเองหรือเพื่อนโทร เนื่องจากจะทำให้มีตัวเลขซ้ำซ้อนและต้องใช้เวลาในการจัดการตัวเลขและรายชื่อให้ตรงกัน”

#Thejournalistclub #โควิด19 #สาธารณสุข