สอท.เชียร์ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แก้แรงงานขาด-หนี้ครัวเรือน

  • แกนนำจัดตั้งรัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องนี้
  • ‘กนอ.’ผวาแล้งยาว
  • กระทบโรงงาน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ ต้องการให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ว่า การขึ้นค่าแรงงานจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับพรรคใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากเป็นพรรคที่ค่อนข้างมุ่งมั่นหรือแก้ไขเรื่องนี้ พรรคจะให้น้ำหนักเรื่องนี้และผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ คาดว่าในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจะมีพิจารณาอีกครั้ง หรืออาจขยับไปในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ค่าแรงงานควรจะปรับขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

“ต้องยอมรับตรงๆ ถ้าค่าจ้างแรงงานถูกจะไม่มีคนทำงานทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ปัญหาของไทยยังมีอัตราการเกิดลดลงมากกว่าอัตราการตาย หากเป็นเช่นนี้ไปอีก 10 ปี ประชากรไทยจะทยอยลดลงจากเกือบ 70 ล้านคนจนเหลือ 40 ล้านคนได้ และอาจมีคนที่ไม่ทำงานด้านแรงงาน แต่จะทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทำให้แรงงานไทยทยอยหมดไป ดังนั้น ต้องรีบพัฒนาไปสู่อนาคตให้มากขึ้น รวมถึงโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะต้องใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น”

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แสดงความกังวลจะเกิดการขาดแคลน ว่าปีนี้ไทยอาจต้องประสบกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดความกังวลต่อภัยแล้ง เบื้องต้น กนอ.ตรวจสอบข้อมูลพบว่าปีนี้ปริมานฝนตกรวมน้อยลงจากปีก่อนๆ 39% ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินฝนในช่วง 2-3 เดือนจะน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา 5-10%

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของกรมชลประทานยังอยู่ระดับ 60-70% ขณะที่ กนอ.มีอ่างเก็บน้ำสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน จึงมั่นใจว่าปีนี้ปริมาณน้ำจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

“แต่สิ่งที่น่ากังวลคือปี 2567 ถ้าแล้งยาวนานอาจทำให้น้ำปีหน้ามีปัญหาในส่วนของอ่างเก็บน้ำที่ใช้อยู่ มี จ.ระยอง และแหลมฉบัง ในระยะยาวเพื่อให้การบริหารน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมมีความมั่นคง กนอ.จะเร่งประสานกับหน่วยงานด้านระบบชลประทานใกล้ชิด”