สส.ก้าวไกลลั่นผิดหวังนโยบายรัฐไม่ให้ความสำคัญบุคลากรสาธารณสุข ชีวิตทำงานหนัก-สวัสดิการแย่

“ศุภณัฐ” สส.ก้าวไกลกระทุ้งรัฐ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุขจริงจัง ชี้มีโอกาสเจอระเบิดเวลาลูกใหญ่ ไม่เกิน 15 ปี ระบบสาธารณสุขไทยอาจล่มสลาย

  • เผยชีวิตบุคลากรสาธารณสุขตอนนี้ ทำงานหนัก-ไร้ความมั่นคง-สวัสดิการแย่
  • ชี้วิกฤตการขาดแคลนหมอในโรงพยาบาลรัฐ จะส่งผลกระทบมหาศาลกับระบบสาธารณสุข
  • พร้อมเสนอแนวทาง 6 ข้อ แก้ปัญหาด้านสาธารณสุข-บุคลากรแพทย์

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข เน้นที่ปัญหาบุคลากร โดยกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังและเสียดายโอกาสแทนประชาชน เพราะมองไม่เห็นอะไรเลย ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ทั้งกว้าง กลวง ไม่ชัดเจน และไม่มีเป้าหมาย 

ทั้งนี้ สิ่งที่ตนหวังว่ารัฐบาลจะแก้อย่างจริงจัง คือการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังสามารถรองรับคนไข้ต่อไปได้ แต่ปัญหาหลักตอนนี้ คือภาระงานบุคลากรสาธารณสุขเกินกว่าขีดความสามารถที่จะรองรับได้ไปแล้ว เกิดจากตัวระบบและผู้บริหารระบบในกระทรวงที่ไม่เร่งแก้ไขอย่างจริงจัง บุคลากรในระบบงานสาธารณสุข มีมากมายตั้งแต่แพทย์ พยาบาล ไปจนถึงคนขับรถฉุกเฉิน แต่นโยบายกว่า 44 หน้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้เลย

ปัญหา 1. คือ work overload ของอาชีพหมอ ที่ทำให้แพทย์จำนวนมากหนีออกจากระบบ ซึ่งนี่คือระเบิดเวลาของระบบสาธารณสุข ทั้งประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 66,000 คน แต่ที่ทำงานได้จริงมีเพียง 50,000 คน หากดูเฉพาะแพทย์ในระบบโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เราจะเหลือจำนวนแพทย์ที่ทำการรักษาจริงๆเพียงแค่ 24,000 คนเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วต้องดูแลคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงแรงงานข้ามชาติในระบบกว่าประมาณ 70 ล้านคน ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ถ้าคิดสัดส่วนหมอในระบบของรัฐต่อคนไข้ที่ต้องดูแล ประเทศไทยมีจำนวนหมอต่อประชากรอยู่ที่ 1 : 3,500 ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ ไม่ควรเกิน 1 : 1,000 คน ทำให้หมอไทยมีภาระหนักกว่ามาตรฐานโลกถึง 3 เท่า 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรแพทย์ในแต่ละพื้นที่อีก ถ้ารวมถึงพื้นที่ในกรุงเทพฯ ตัวเลขดังกล่าวอาจจะดูดีอยู่ที่  1 : 400 แต่เมื่อไปดูตามต่างจังหวัด จะพบสัดส่วนที่สูงขึ้นมากในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลอำเภอ อาจเพิ่มขึ้นได้ถึงราว 1 : 13,000 ถึง 1 : 20,000 คน

โดยยิ่งไปกว่านั้น จากผลสำรวจ พบว่าหมอไทยทั่วไปในระบบยังต้องทำงานหนัก เกิน 80 ชม./สัปดาห์ อย่างโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งที่มีหมอคนเดียว ชั่วโมงการทำงานอาจทะลุไปกว่า 120 ชม./สัปดาห์ หมอหลายคนต้องควงหลายกะ ทำงานติดต่อกัน 30 – 36 ชมโดยเฉพาะในกลุ่มหมอจบใหม่ที่ทำงานใช้ทุน ที่ต้องทำงานเหมือนทาสในเรือนเบี้ย จนเกิดกรณีที่หมอพักผ่อนไม่เพียงพอ ฆ่าตัวตาย หรือเสียชีวิตเพราะทำงานหนัก เกิดอุบัติเหตุหลังออกเวรจนส่งผลกระทบไปถึงผู้ป่วยที่มารักษาด้วย 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัย พบว่าแพทย์ที่ทำงานหนักเกิน พักผ่อนน้อย เสี่ยงที่จะรักษาผิดพลาดสูง โดยมากกว่า 90% ของการรักษาผิดพลาดมักเกิดจากการที่แพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนักเกินไป และมี 15% ของกรณีที่รักษาผิดพลาดนำไปสู่การเสียชีวิต 8% นำไปสู่ความพิการ

ปัญหาต่อมา คือ 2.ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ที่ทำให้คนไม่อยากอยู่ในระบบ ทำให้รัฐรักษาคนไว้ในระบบไม่ได้ หมอที่ผ่าสมอง 8 ชมในเวลางานได้ 0 บาท นอกเวลาได้ 1,200 บาท ถ้าเทียบการรักษาของเอกชนแล้ว หมอทำงานนอกเวลาได้ค่าตอบแทนมากกว่านี้เป็นสิบๆ เท่า ขณะเดียวกัน หมอในระบบราชการที่มาทำงานเสาร์อาทิตย์ เพื่อติดตามอาการคนไข้ ไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว เสมือนหลอกใช้งานฟรี นอกจากนี้ การให้ค่าล่วงเวลาก็ยังถูกจำกัดอยู่ที่ 8 ชมตก ชมละ 30 บาท หากเกิน 8 ชมก็จะไม่จ่ายค่าล่วงเวลาเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความมั่นคงในชีวิตของบุคลากร ที่นอกจากหมอและพยาบาลบางส่วนแล้ว คนอื่นๆ กลับไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ทุกวันนี้ผู้ช่วยพยาบาลได้รับค่าตอบแทนเพียงวันละ 300 บาทเท่านั้น ทั้งที่บุคลากรแทบทุกคนต้องทำงาน 36 ชมติดต่อกัน

3.กฎระเบียบสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่มีการจำกัดจำนวนบุคคากร แม้ในอดีตจะมีนโยบายในการ lean องค์กรให้เล็กลง ซึ่งฟังผิวเผินก็เหมาะสม แต่ในทางปฎิบัติ รัฐไม่ได้คิดโควตาในการบรรจุบุคลากรจากความต้องการจริง เช่น ให้โควตากระทรวงกลาโหม เท่ากับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ภาระงานไม่เท่ากัน อีกทั้งระบบการจ้างงานกพมีโควตาเพียงน้อยนิดให้กระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถบรรจุคนได้ตามกรอบกำลังคนตามที่ต้องการ อยู่ที่เพียง 2,000 คนต่อปีเท่านั้น

4.ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลก็ทราบอยู่แล้ว ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุกว่า 20% ของประชากร หรือราว 14 ล้านคน ที่รัฐจะต้องดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็หมายถึง จำนวนเคสที่มากขึ้น อาการป่วยที่จะยิ่งรุนแรงและเร่งด่วนมากขึ้น ต้องใช้เวลาดูแลต่อเคสนานขึ้น ทักษะของแพทย์ต้องเชี่ยวชาญมากขึ้น ไหนจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัยต่อโรคอุบัติใหม่อีก

นายศุภณัฐ กล่าวว่า วิกฤตการขาดแคลนหมอในโรงพยาบาลรัฐ จะส่งผลกระทบมหาศาลกับระบบสาธารณสุขและคนไทย 70 ล้านคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ การที่รัฐไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ตัวระบบอย่างจริงจัง ระบบสาธารณสุขของเราก็จะไปต่อไม่ได้ 

ไม่เกิน 15 ปี ระบบสาธารณสุขไทยอาจล่มสลาย นี่คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่กำลังมาถึง ภาพที่เราเคยเห็นในสมัยโควิดจะกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ คำแถลงนโยบายสาธารณสุขที่รัฐบาลจะทำ อาทิ นัดหมอออนไลน์, telemedicine, รับยาและตรวจเลือดใกล้บ้านบัตรประชาชนใบเดียว จะไม่สามารถดำเนินการได้เลย ถ้าไม่ช่วยแก้ปัญหาที่โครงสร้างนี้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน 

สุดท้าย สิ่งที่ก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลรีบทำอย่างเร่งด่วน  

1.ต้องมีกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเคยเสนอไว้แล้ว แต่ยังไม่มีใครเอาไปทำจริงตลอดจนต้องมีการกระจายงานเพื่อลดภาระงานในโรงพยาบาลไปยังสาธารณสุขชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ดูแลโรคกลุ่มไม่ติดต่อ (NCDs) อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง  ตับแข็ง โรคไต มะเร็ง โรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ สมองเสื่อม ความดันสูง ซึ่ง รพ.สตมีศักยภาพดูแลได้

2.ยกระดับ รพ.สตและศูนย์สาธารณสุขชุมชน ดำเนินการติดตามโรคเรื้อรังได้ เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่และให้มีบุคลากรดูแลประชาชนมากกว่านี้

3.reskill-upskill พัฒนา อสมให้กลายเป็นอาชีพหลักที่มีรายได้ที่เป็นธรรม เพื่อดูแลคนในชุมชน

4.เน้นการป้องกันโรคแบบ Preventive medicine เพื่อลดจำนวนคนไข้เข้าระบบ ซึ่งในคำแถลงของรัฐบาล มีแค่เรื่องการเล่นกีฬา น้ำประปาถูกสุขอนามัย และฉีดวัคซีนปากมดลูก ทั้งที่ท่านควรเน้นการส่งเสริมการดูแลตัวเอง การตรวจดูอาการเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเคสหนักก่อนเข้าในระบบ

5.เพิ่มบุคลากรในระบบ และพยายามรักษาให้อยู่ในระบบด้วยการเพิ่มค่าตอบแทน ที่เป็นธรรม และมีสวัสดิการต่างๆ

6.แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งปัจจุบันไม่สามารถใช้กับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจได้ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไขกฎหมายนี้แล้วเพื่อให้ทุกคนมีสวัสดิการที่เป็นธรรมและป้องกันคนหลุดออกจากระบบมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาให้บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น วันหนึ่งเราทุกคนต้องป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ถ้าบุคลากรสาธารณสุขไม่รอด เราก็ไม่รอดเช่นเดียวกัน” ศุภณัฐ กล่าว