สรรพากรจับมือดีป้า พัฒนาบิ๊กดาต้า ยกระดับการให้บริการกับผู้เสียภาษี ให้ตรงใจ

  • พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล
  • เล็งเปิดเผยข้อมูลเสียภาษีให้สาธารณชนนำไปใช้ประโยชน์
  • ความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) เรื่องการใช้การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านภาษี(ดาต้า อนาไลติกส์) กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)แบบออนไลน์ครั้งแรกของหน่วยงานราชการไทย ว่า ความร่วมมือกับดีป้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการให้บริการกับผู้เสียภาษีและประชาชนให้ตรงกลุ่ม ตรงใจ และสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ทำให้สามารถพัฒนาการบริการกับที่ประชาชนต้องการมากขึ้น  ผ่าน 3 แผนงาน ได้แก่

1. การนำข้อมูลความคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้เสียภาษีและประชาชน จากที่รวบรวมได้หลากหลายช่องทางมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี และนำผลที่ได้มาออกแบบนโยบายภาษีให้ตรงกลุ่ม และบริการภาษีให้ตรงใจผู้เสียภาษี  2. การวิเคราะห์และประมวลข้อมูลทางภาษีต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในเชิงวิชาการ เช่น การคำนวณแบบจำลอง การเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี หรือแบบจำลองการประมาณการเก็บภาษี เป็นต้น และ3.การร่วมมือพัฒนาบุคลากรของกรมสรรพากร ให้มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลสอดคล้องกับทักษะในอนาคต

 “ดีป้าจะเข้ามาช่วยพัฒนาบิ๊กดาต้า หรือ คลังข้อมูลขนาดใหญ่ของกรมสรรพากร  รวมถึงช่วยพัฒนาคนกรมสรรพากรให้มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งหลังจากนี้กรมสรรพากรจะมีแนวคิดเปิดเผยข้อมูลของการเสียภาษีให้สาธารณชนนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้นักวิชาการ ประชาชน และผู้ประกอบการนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ได้ โดยยืนยันว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีรายบุคคล เพราะตามกฎหมายสรรพากร มีข้อห้ามในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้เสียภาษีอยู่” 

อย่างไรก็ตามการใช้บิ๊กดาต้าดังกล่าว ไม่ได้ไปมุ่งจะจัดเก็บภาษีจากกลุ่มผู้เสียภาษีเพียงอย่างเดียว แต่เข้าไปช่วยหากพบว่ามีผู้ค้าที่ยังไม่เสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยกรมสรรพากรจะต้องเข้าไปสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องด้วย  เพราะขณะนี้เงินส่วนใหญ่ที่นำมาพัฒนาประเทศ พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 มาจากเงินภาษี

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรร่วมกับกรมสรรพากรในครั้งนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศควบคู่กับการเตรียมพร้อมบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยการต่อยอดทักษะเดิม หรือ เสริมทักษะใหม่ เพื่อนำไปสู่การบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล