สรรพสามิต เดินหน้าขึ้นภาษีความหวานเท่าตัว 1 ต.ค.นี้

  • แนะผู้ประกอบการรีบปรับสูตรเครื่องดื่มก่อนแบกภาษีหลังแอ่น
  • คาดปีนี้รายได้ภาษีเครื่องดื่มเพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี
  • เล็งเสนอรัฐจัดเก็บภาษีความเค็ม ดูแลสุขภาพผู้สูงวัย

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยหลังการประชุม The Conference of Sugar Sweeten Beverage Excise Taxation เรื่องการปรับภาษีความหวาน ว่า ในวันที่ 1 ต.ค.2562 นี้ จะมีการปรับอัตราภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หลังจากที่ปรับโครงสร้างภาษีไปเมื่อ 2 ปีก่อน หรือปี 2560  ซึ่งส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมส่วนใหญ่ ประมาณ 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิมเสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร

อย่างไรก็ตามเครื่องดื่มน้ำอัดลมบางยี่ห้อมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาจากภาระต้นทุนและภาระทางภาษีที่ปรับขึ้นใหม่ด้วย ทั้งนี้คาดว่าหลังจากขึ้นภาษีความหวานใหม่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะทำให้กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี

“ขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีความหวานน้อยลงมากเท่าที่ควร  เพราะกลัวยอดขายลดลง แต่ก็มีบางยี่ห้อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มรายได้หลัก ซึ่งส่วนนี้ผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีไว้เอง”

สำหรับภาษีความหวาน กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี โดยปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร  คือ หลังจากวันที่ 1 ต.ค. 2564 ภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14% จาก 1 บาทต่อลิตร จะเพิ่มเป็น 3 บาทต่อลิตร และในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เพิ่มจาก 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร ซึ่งกรมสรรพสามิตเชื่อว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนสูตรในเครื่องดื่มเพื่อลดความหวานลงเอง เพราะไม่อยากแบกรับต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น

 “ในช่วงที่กรมสรรสามิตเริ่มเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มปรับลดสูตรให้ความหวานน้อยลงเพิ่มขึ้น   2 เท่าตัว จาก 60-70 สินค้า เพิ่มเป็น 200-300 สินค้า  และมีน้ำดำบางค่ายลดปริมาณน้ำตาลลงจาก 10 %  เหลือเพียง 7.5% ทำให้เครื่องดื่มดังกล่าวเสียภาษีในอัตราเดิม”

อย่างไรก็ตามนอกจากภาษีความหวานแล้ว กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ จัดเก็บภาษีในสินค้าที่มีความเค็ม เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน และรองรับสังคมผู้สูงอายุ  โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีจะคล้ายกับภาษีความหวานในเครื่องดื่ม คือ การกำหนดปริมาณโซเดียม(เกลือ) ที่อยู่ในสินค้าต่างๆ   อาทิ ขนม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยคิดจากปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวัน ที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่ทั้งนี้จะต้องมาจำแนกอีกครั้งว่าสินค้าแต่ละประเภทควรมีปริมาณโซเดียมผสมเท่าใด โดยการเก็บภาษีความเค็มนั้นจะไม่เก็บจากเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว เป็นต้น

“ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตคาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีได้ 584,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับลดให้จากเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ 620,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2563 กรมสรรสามิตได้เป้าหมายจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 640,000 ล้านบาท”