“สรรพสามิต” ตั้งคณะกรรมการทบทวนการปฎิรูปโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ

  • เพื่อให้สอดคล้องกับนวัตรกรรมการผลิตสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้น
  • รองรับนโยบายส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
  • สร้างความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษี

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อทบทวนปรับปรุงแผนการเก็บภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ โดยโครงสร้างภาษีเดิม ได้มีการปฎิรูปและประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่ต้องทบทวน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทันสมัย 

สำหรับประเด็นที่จะนำมาประกอบการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะคำนึงถึงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  รวมถึงนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น เครื่องทำโซดาที่สามารถกดเองได้ ควรเสียภาษี แต่เนื่องจากปัจจุบันมีความคลุมเครือของกฎหมาย จึงยังไม่สามารถคิดอัตราภาษี  นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเครื่องดื่มเบียร์ แอลกอฮอลล์ 0% ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บภาษีในพิกัดของอัตราภาษีเครื่องดื่ม โดยคิดอัตราภาษีที่ 11%ต่อราคาขายปลีก เป็นต้น   ซึ่งกรณีแบบนี้ อาจสร้างความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่อยู่ในระบบภาษี  ดังนั้นการทบทวนโครงสร้างภาษี ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วย 

ทั้งนี้ ภาษีเครื่องดื่มยังมีพิกัดอัตราภาษีที่หลากหลาย ได้แก่ โซดา คิดอัตราภาษี 14% เครื่องดื่มผลไม้ พืชผัก คิดอัตราภาษี 10% แต่หากผู้ประกอบการมีการปรับสูตรตามที่กรมสรรพสามิตกำหนดก็จะคิดอัตราภาษี 0% ส่วนเครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม คิดอัตราภาษี 14% และเครื่องดื่มเติมสารอาหาร คิดอัตราภาษี 3-10% เป็นต้น ซึ่งอัตราเหล่านี้ ก็ต้องทบทวนด้วยเช่นกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับภาษีบุหรี่จะต้องผลจากการใช้โครงสร้างภาษี 2 อัตราเป็นอย่างไร ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ และตอบโจทย์ 4 ด้าน ได้แก่  สุขภาพ ,ปราบปรามบุหรี่เถื่อน ,การจัดเก็บรายได้  และไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกใบยา  หรือไม่  และต้องต้องศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเดียว ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้มีมติให้กรมฯกลับมาศึกษาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ 

ส่วนบุหรี่ไฟฟ้านั้น กรมสรรพาสามิต เคยมีแนวคิดที่จะศึกษ าเพื่อเพิ่มเข้าสู่พิกัดอัตราภาษีสินค้าอยู่ในการควบคุม แต่เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย  จึงเป็นสินค้าไม่ถูกกฎหมาย หากนำเข้ามาในพิกัดสินค้าจัดเก็บภาษี จะขัดกับนโยบาย  ฉะนั้นจึงชะลอการศึกษาเรื่องนี้ออกไปก่อน เช่นเดียวกันกับแผนการเก็บภาษีความเค็ม ที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วในช่วงก่อนโควิด แต่เมื่อการแพร่ระบาดโควิด จึงทำให้ชะลอการเดินหน้าในเรื่องนี้ออกไปก่อน 

สำหรับภาษีความหวานระยะที่ 3 นั้น ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66- 31 มี.ค.68  ดังนี้  ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร และปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร