สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย แนะองค์กร-บุคลากรด้านการตลาด ยึด“จรรยาบรรณวิชาชีพนักการตลาด” ก่อนออกแคมเปญ

  • นักการตลาดไทยต้องมีจิตตระหนัก
  • รับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน
  • กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการทำแคมเปญส่งเสริมการตลาดของลาซาด้า ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมนั้น ทาง สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 55 ปี และตลอดมา ทางสมาคมการตลาดฯ มุ่งสนับสนุนในการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานนักการตลาดไทย ทั้งในเชิงองค์ความรู้ทางธุรกิจ และจรรยาบรรณอันพึงปฏิบัติ 

จากเหตุการณ์ที่เกิดเป็นกระแสขึ้นในปัจจุบัน เกี่ยวกับหลากหลายงานโฆษณาสื่อสารการตลาดที่อาจมีการใช้ภาพ เสียง หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม ไม่สร้างสรรค์ และอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบทางสังคม  สมาคมการตลาดฯขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้องค์กรและบุคลากรด้านการตลาดมุ่งเน้นในการทำการตลาดเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์และไม่ขัดต่อ “จรรยาบรรณวิชาชีพนักการตลาด” ที่ทางคณะที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด และอดีตนายกสมาคมการตลาดฯ ได้ร่วมกันร่างเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ กล่าวคือ

  1. นักการตลาดไทยต้องมีจิตตระหนักในภาระหน้าที่และบทบาทที่จะช่วยกันเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและของประเทศไทยในตลาดโลก
  2. ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดด้วยคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบในทางลบต่อจารีตประเพณีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนคนไทยและชาติไทย
  3. รับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน และพยายามทุกวิถีทางให้มั่นใจว่าการตัดสินใจหรือการกระทำใดๆของตนเป็นไปเพื่อบ่งชี้ตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มสาธารณะที่เกี่ยวข้องโดยรวม
  4. ปฏิบัติตามกฎหมายและค่านิยมที่ดีทางสังคม
  5. ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้ขาย ลูกจ้าง พนักงานและสาธารณะชนทั่วไป
  6. กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ร่วมอาชีพและบุคคลอื่น
  7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณนักการตลาดละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  8. ยินดีเผยแพร่ความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเพื่อสาธารณะประโยชน์

การกระทำใดๆที่ปราศจากความรับผิดชอบและขัดต่อจรรยาบรรณและศีลธรรมอันดีของวิชาชีพ อาจก่อให้เกิดผลเชิงลบแก่สังคมและธุรกิจได้ สังคมและผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาความเหมาะสมที่จะยุติการสนับสนุนต่อไป องค์กรและผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรจะมีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดอันเนื่องมาจากการกระทำหรือกิจกรรมเหล่านั้น และสมควรที่จะแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผยและจริงใจ