“สมคิด” รับเหลือแค่กระทรวงการคลังขา เดียวช่วยเข็นเศรษฐกิจ

  • ไม่ใช่เรื่องง่ายดันไทยติด 1 ใน 20 ประเทศสะดวกในการทำธุรกิจ
  • ”อุตตม” ลั่น! ออกมาตรการแน่! ถ้าอยู่เฉยๆความเชื่อมั่นลด
  • ชี้เศรษฐกิจเริ่มโงหัวขึ้นแล้วต้องเดินหน้าต่อไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ  Doing Business  ว่า ขณะนี้อันดับความยากง่ายของไทยอยู่ที่ 21 ของโลก หรือขึ้นมา 6 ระดับจากปีที่ผ่านซึ่งอยู่ที่ 27 ของโลก จาก 190 ประเทศทั่วโลก  ซึ่งถือว่าดีมาก เพราะธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ในฐานะผู้ประเมินได้แสดงความยินดีกับไทยที่สามารถขยับการจัดอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)ที่เป็นเจ้าของงานก็ได้รับคำชมด้วย ส่วนในปีหน้าวางเป้าหมายว่าไทยจะต้องติด 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของโลก

“ในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะทุกหัวข้อ ไทยได้คะแนนเกือบเต็มแล้ว ถือว่าเป็นนักเรียนเกรดเอ แต่ก็มีหลายอย่างที่ไทยพัฒนาได้ เช่น การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ”

ทั้งนี้สิ่งที่ก.พ.ร.ต้องทำ คือ สื่อสารให้คนไทยรู้ว่าอันดับความยากง่ายของการทำธุรกิจมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร โดยเฉพาะเชิงเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุน เพราะถ้าประเทศไหนมีอุปสรรคเยอะนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น และยุโรปก็ไม่อยากจะเข้ามาลงทุน นอกจากนี้การที่อันดับความยากง่าย ในการทำธุรกิจไทยดีขึ้น ทำให้เกิดความรื่นไหลในการทำธุรกิจและการตั้งบริษัทใหม่ก็ง่ายขึ้นด้วย

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสิ้นปีนั้น ต้องยอมรับว่าขณะนี้การดูแลเศรษฐกิจเหลืออยู่ขาเดียว คือ กระทรวงการคลัง จากเมื่อก่อนมี 4 ขา ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีกลไกที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งเรื่องการส่งออก ค่าครองชีพ การเบิกจ่ายภาครัฐ การดูแลภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน

“ในส่วนของกระทรวงการคลังก็ต้องทำในส่วนที่ตัวเองสามารถทำได้ คือ การกระตุ้นการบริโภค ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และดึงเอกชนเข้ามาลงทุน ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ เรื่องการส่งออก เป็นต้น ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละกระทรวงเอง  แต่ผมคิดว่าเขาก็พยายามทำให้ดีอยู่แล้ว”

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมานั้นจะต้องรอให้เข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาก่อน และในเรื่องนี้กระทรวงการคลังก็รับผิดชอบแค่ส่วนหนึ่ง กระทรวงอื่นเองก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ทำงานด้วยกัน เพียงแต่รายละเอียดแต่ละมาตรการก็คงต้องไปถามผู้รับผิดชอบโดยตรง กระทรวงการคลังคงตอบแทนไม่ได้

“กระทรวงการคลังจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ในสภาวะเช่นนี้ต้องมีมาตรการออกมา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะถ้าปล่อยไปเฉยๆ ความเชื่อมั่นก็ไม่มี ความรู้สึกก็หดหู่ มันจะยิ่งแย่ วันนี้ตัวเลขในแต่ละไตรมาสก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจเริ่มจะโงหัวขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำต่อไป ไม่ใช่รออยู่เฉยๆ “

สำหรับมาตรการทางการคลังที่จะออกมานั้นมีหลายด้าน อาทิ ด้านอุปโภคบริโภคก็จำเป็นเวลา เพราะเวลานี้ควรให้เศรษฐกิจเกิดความหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงสิ่งที่มี เช่น ที่อยู่อาศัย เรื่องการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายกลางและรายเล็กและภาคเกษตร เป็นต้น