“สภาพัฒน์” เผยไตรมาส 3/65 ท่องเที่ยวคึกคักหนุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานลดลงเหลือ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2565 ว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วงไตรมาส 3  ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคนเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัว 4.3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงหดตัวที่ -2.4% เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ที่ผ่านมา

สำหรับชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วงไตรมาส 3/2565 พบว่า แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงาน 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงไตรมาส 3/2562 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.8 ล้านคน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวน 1.9 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหรือไตรมาส 2/2565 ที่มีผู้เสมือนว่างงาน 2.2 ล้านคน

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ด้านชั่วโมงการทำงานของแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ เมื่อพิจารณาในด้านค่าจ้างแรงงาน พบว่าค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาพรวม ในช่วงไตรมาส 3/2565 หดตัว -3.1% จากปัญหาเงินเฟ้อ

นายดนุชา  กล่าวต่อว่า ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 1.23% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้จบการศึกษาใหม่ 2.6 แสนคน และเมื่อแยกตามระดับการศึกษา ยังคงพบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 1.85 แสนคน ซึ่งกว่า 60% เป็นผู้จบการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจ

สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลภาระครองชีพของแรงงาน เพราะแม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานในระบบไปแล้ว แต่แรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ของแรงงานทั้งหมด ยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาไม่สูงนัก ซึ่งมีสัดส่วน 84.2% และเป็นกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย 

2.การเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะเกษตรกรยากจนและ3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่ 88.2% ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาก่อนก่อนแต่พบว่าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ มีการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงแทบทุกสินเชื่อ แต่สินเชื่อบัตรเครดิตและและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับฯ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราการการขยายตัวเร่งตัวขึ้นมาก โดยขยายตัว 8.8% ในช่วงไตรมาส 2/2565 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.5% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการใช้เงินล่วงหน้า เพื่อทำให้การใช้เงินในอนาคตลดลง”  นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ตามอย่าลืมขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่า สัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.62% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนNPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.69% อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ต้องติดตามเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนใน 6 ประเด็น ได้แก่1.สัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

2.กลุ่มลูกหนี้อายุ 41 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ 3.ลูกหนี้ที่หนี้กลายเป็นNPLs จากผลกระทบของโควิด-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 2/2565 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 4.3 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 3.96 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 2.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.2 แสนล้านบาท 

4.ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง 5.ในช่วงถัดไปครัวเรือนที่ประสบปัญหาอุทกภัย มีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ 6.อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“เรื่องหนี้ครัวเรือน คงต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่างๆ โดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาจากผลพวงของโควิด-19 และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุ การมีมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม และครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโควิด รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีบางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียง โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันนั้น มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งสิ่งที่รัฐทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ พยายามทำปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือของแรงงาน ดังนั้น หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องปรับค่าแรงสำหรับแรงงานฝีมือขึ้นไปด้วย เพื่อให้เกิดส่วนต่าง ระหว่างคนที่มีทักษะกับคนที่ไม่มีทักษะ แต่ภาระก็จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ

“ผู้ประกอบการก็ต้องดูให้ดีว่า รับไหวหรือเปล่า ถ้ามีการปรับขึ้นจริง ภาคอุตสาหกรรม ก็คงปรับไปใช้หุ่นยนต์ แล้วก็จะพันมาเรื่องการปลดคนงาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ คิดว่าเราน่าจะไปเน้นเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น หากเป็นค่าใช้จ่ายตรงนั้น คิดว่าเอกชนรับได้” นายดนุชากล่าว

สำหรับการปรับเงินเดือนเด็กจบใหม่ ถ้าขึ้นเงินเดือนก็จะกระทบทั้งเอกชนและภาครัฐ อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็น15,000 บาท รัฐบาลก็ต้องปรับฐานขึ้นมา ก็เป็นภาระงบประมาณ ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด ยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลัง ก็ต้องดูในแง่วินัยการเงินการคลังที่จะต้องเคร่งครัดในช่วงถัดไป