สนค.คาดเงินเฟ้อไทยขาลงปี 65 โตไม่เกิน 6.5%

.ราคาสินค้าในประเทศทรงตัว-รัฐช่วยค่าเอฟที

.ขึ้นดอกเบี้ย-ค่าแรง-บาทอ่อนดันเงินเฟ้อขึ้นน้อย

.แต่ยังจับตาราคาพลังงานผันผวน-ภัยธรรมชาติ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.65 จะทรงตัว หรือชะลอลง จากเดือนส.ค.65 ที่ขึ้นไปสูงสุดถึง 7.86% เทียบเดือนส.ค.64 ทำให้คาดว่า ทั้งปี 65 จะขยายตัวไม่เกิน 6.5% และอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 -6.5% เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และราคาอาหารโลกเริ่มลดลง ประกอบกับ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศอยู่ในช่วงทรงตัว เนื่องจากได้ทยอยปรับขึ้นมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่วนสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน กรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาเอาไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.65 ทำให้คาดว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีจะมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.25% จากที่หากไม่มีมาตรการจะสูงขึ้น 0.78% ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 5.02% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 จะมีผลกระทบน้อยมาก เพราะเอกชนได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว อีกทั้งภาคการผลิตและบริการในภาพรวม มีสัดส่วนการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก การปรับขึ้นค่าแรงจึงส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมไม่มาก แต่ต้องจับตาดูตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ที่อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงในระดับหัวหน้างาน

ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น แม้จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาผลกระทบของสนค.พบว่า จะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นไม่มากนัก โดยหากค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีอยู่ที่ 37 บาท/เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.28% และถ้าอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญฯ เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.31% ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มองว่า สอดคล้องกับเงินเฟ้อของไทยในขณะนี้ เพราะเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อเดือนส.ค.65 จึงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นในอัตราสูง โดยมองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.04-0.12% เท่านั้น และหากทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% รวม 4 ครั้ง หรือ 1% เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.20-0.80%

“สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้ จะขยายตัวไม่เกิน 6.5% และอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 -6.5% แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น ราคาพลังงานที่ยังผันผวน สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ ที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ และอาจทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลต่อเงินเฟ้อ แต่จะเห็นภาพชัดในเดือนต.ค. รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท การฟื้นตัวของความต้องการซื้อในประเทศ และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ที่กระทบต่ออุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง”