สธ.ห่วงระบาด เลือก 8 จังหวัดนำร่อง ติดตามสถานการณ์โควิดต่อเนื่อง

  • ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน
  • 8 จังหวัดนี้ จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือน
  • หากมีโอกาสเกิดการระบาดในระยะข้างหน้า

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า มาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังจากนี้จะมีการทำมาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง (Sentinel surveillance) จะติดตามข้อมูลในจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดที่มีความเสี่ยงที่โรคจะแพร่ระบาด จังหวัดที่มีชุมชนแรงงานต่างด้าว เบื้องต้นเลือกออกมาได้ 8 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคละ 2 จังหวัด แต่ก็อาจจะมีการติดตามข้อมูลในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม หรือจังหวัดที่เห็นความสำคัญอาจทำคู่ขนานกันไป คาดว่าอาจเก็บข้อมูลเข้มข้นไปจนถึงปลายปี 2565 เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

นพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ ย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน โดยระบบเฝ้าระวังที่ สธ. กำหนดไว้เดิม 3 ระบบ ที่ทุกจังหวัดต้องมี คือ 1.ติดตามผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 2.การระบาดในชุมชน และ 3.เฝ้าระวังสายพันธุ์ ฉะนั้น ส่วนนี้ก็จะเพิ่มเป็นระบบที่ 4 เพื่อให้ระบบที่มีเข้มข้นมากขึ้น

“8 จังหวัดนี้ จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือน หากมีโอกาสเกิดการระบาดในระยะข้างหน้า รวมถึงเฝ้าระวังเชื้อว่า จะเป็นสายพันธุ์เดิม หรือสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ระบบเฝ้าระวังสมบูรณ์มากขึ้น โดยการติดตามข้อมูลโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะสรุปข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วเหมือนช่วงแรก เพราะคนมีวัคซีน บางส่วนติดเชื้อตามธรรมชาติ ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะระบาดเร็วก็จะน้อยลง เว้นแต่จะมีเชื้อใหม่ๆ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การติดตาม 8 จังหวัดนี้จะดูข้อมูลใด เพื่อประเมินว่าสถานการณ์ระบาดนิ่งหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า สัญญาณจะดูได้จาก 1.อัตราตรวจพบเชื้อ เช่น เก็บตัวอย่างมาแล้วพบติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ และ 2.นำเชื้อที่ได้ไปตรวจหาสายพันธุ์ว่าต่างจากเดิมหรือไม่

“อย่างไรแล้ว หากมีการติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ก็อาจมีการยกระดับมาตรการได้ อย่างปัจจุบันเราเข้มงวดในบางกิจกรรม เช่น ขนส่งสาธารณะ สถานพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ/เด็ก ดังนั้น ถ้ามาตรการไม่เพียงพอ เกิดการระบาด เราก็อาจขยับให้เข้มข้นขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า ทั่วโลกมองโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจประเภทหนึ่ง ประเทศต่างๆ ไม่มีอะไรที่เป็นพิเศษ ไทยเราถือว่ามาตรการมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ”