สธ. สรุปชัดไทยเจอ “โอไมครอน” แค่ 1 ราย พนักงงานโรงแรมรอด รอเฝ้าดูอาการพร้อมตรวจซ้ำ

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโดยสุ่มตรวจหาโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีผล RT-PCR เป็นบวกการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิต

“ขอยืนยันว่า ขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้อโอไมครอนจากผู้เดินทางเพียงรายเดียว คือ ชายชาวอเมริกันอายุ 35 ปี เดินทางมาจากสเปน อยู่ระหว่างการดูแลในสถานพยาบาล แต่ไม่มีอาการ โดยจะติดตามอาการทุกวัน จนครบการกักตัว14 วัน นับตั้งแต่วันที่เดินทางมาถึงประเทศไทยคือวันที่ 30 พ.ย.64” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับผู้สัมผัสชายอเมริกันรายนี้ บนเครื่องบินไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารรายอื่นนั่งติดกับผู้ติดเชื้อ ส่วนพนักงานสนามบินมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด 2 ราย โดยผลตรวจออกมาแล้วเป็นลบ

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนโรงแรมที่ผู้ติดเชื้อได้เข้าพักมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 17 ราย ตรวจหาเชื้อเป็นลบ 16 ราย ส่วนอีกรายเป็นชายไทยอายุ 44 ปี เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารในโรงแรม มีประวัติวันที่ 1 ธ.ค.64 นำอาหารไปเสิร์ฟให้ชายอเมริกันที่คิดเชื้อ และนำเอกสารไปให้เซ็น พบเจอกันเพียง 5-10 นาที มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาทั้ง 2 ฝ่าย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานเสิร์ฟรายนี้ได้เดินทางไป จ.อุบลราชธานี ทีมสอบสวนโรคที่ จ.อุบลราชธานี จึงได้ติดตามมาตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร โดยวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผลสงสัยว่าจะติดเชื้อ (Inconclusive) เนื่องจากต้องตรวจหาเชื้อถึง 37 รอบ ทั้ง 2 ยีน แสดงว่าเชื้อมีปริมาณน้อยมาก อาจจะเป็นซากเชื้อ

จากการที่รายนี้ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน จึงมีการตรวจซ้ำวันนี้ ล่าสุดให้ผลเป็นลบ ซึ่งก็สรุปได้ว่าไม่มีการติดเชื้ออย่างไรก็ตาม จะยังติดตามผู้สัมผัสทั้ง 19 ราย และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนครบการเฝ้าระวัง 14 วัน

ทั้งนี้เมื่อมีการสอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดรายนี้ พบว่า มีผู้สัมผัสในครอบครัว 5 คน ที่เดินทางร่วมกันด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อผลตรวจครั้งแรกสงสัยว่าจะติดเชื้อ จึงมีการติดตามต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคุมไว้สังเกตอาการทั้งหมด

“สายพันธุ์โอไมครอนถือว่าแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น อาจเป็นตัวช่วยให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้น และเข้าสู่นิวนอร์มัลเร็วขึ้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องดำเนินมาตรการ VUCA ควบคู่ด้วย คือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งวัคซีนทุกวันนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาโดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับเข้าประเทศไทย