ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิด 3ธุรกิจดาวรุ่ง-3ธุรกิจดาวร่วงปี67

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิด 3 ธุรกิจดาวรุ่ง-3ธุรกิจดาวร่วงปี67 รับเทรนด์ที่มาแรงได้แก่ Grow Green , Grow Wellness  และ Grow Digital  

  • เศรษฐกิจไทยปี 2567  ขยายตัว 3.1-3.6%
  • ธุรกิจท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อน  
  • ส่งออกอาจพลิกเป็นบวกได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี2567 โดยเทรนด์ที่มาแรงได้แก่ Grow Green รับโลกเดือด , Grow Wellnessรับสังคมผู้สูงอายุ และ Grow Digital  รับโลกไร้พรหมแดน  ส่วนธุรกิจดาวรุ่ง 3 กลุ่มได้แก่  1.ท่องเที่ยวสุขภาพการแพทย์ทางไกล คาดรายได้จากคนไข้ Medical tourism เติบโต 8-10% ในปี 2567 สอดคล้องไปกับการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยและการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การแพทย์ทางไกล (Telehealth) ก็คาดว่าจะเติบโตสูงราว 17% ต่อปี4  สอดคล้องไปการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการให้บริการด้านสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2572

2 ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ ครอบคลุมหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์รูฟท็อป ตลาดคาร์บอนเครดิต ตลาดซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าสีเขียว การตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยประเมินว่า ในปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อรถยนต์รวมอาจเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาจขยับขึ้นเป็น 15-20% เทียบกับ 13% ในปี 2565

3.ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ คาดรายได้ผู้ประกอบการตู้กดสินค้าอัตโนมัติอาจขยายตัวราว 8-10% ในปี 2567 โดยการติดตั้งจะยังเน้นไปในทำเลที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น ครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เครื่องดื่ม อาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้น สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคใหม่ในเขตเมือง

 ส่วนธุรกิจดาวร่วง 3 กลุ่ม ได้แก่1. แฟชั่นของใช้ส่วนตัวทั่วไป ในยามที่ผู้บริโภคยังระวังการใช้จ่ายและภักดีต่อแบรนด์ต่ำ ประกอบกับต้องแข่งขันสูงมากกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีราคาย่อมเยา ทำให้สินค้าแฟชั่นและของใช้ส่วนตัว เช่น สกินแคร์ เครื่องสำอาง วิตามิน เป็นต้น ของแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าน้อย เสี่ยงจะเผชิญยอดขายที่หดตัว หรือเป็นกระแสได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าแฟชั่นและของใช้ส่วนตัวที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดราว 20% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2560

2.สินค้าปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เหล็ก อะลูมิเนียมที่กำลังจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนจากคู่ค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (EU Carbon Border Adjustment Mechanism) หลักๆ ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม โดยแม้ว่าในปี 2567 จะยังไม่ถูกเก็บ แต่ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มรายงานข้อมูล ทำให้จะมีต้นทุนการดำเนินการและอาจจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปริมาณเหล็กส่งออกไปสหภาพยุโรปที่เข้าข่ายอยู่ที่ราว 1.25 แสนตัน หรือคิดเป็น 6% ของเหล็กส่งออกของไทยไปตลาดโลก 

3.สถาบันการศึกษา ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง อีกทั้งปัจจุบันการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต การศึกษาหลักสูตรชั้นนำผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีความสะดวก หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าหาความรู้ผ่านออนไลน์และ Generative AI ก็พัฒนาขึ้นมาก ทำให้สถาบันการศึกษามีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากภาวะอุปทานส่วนเกิน และจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบรับกับความต้องการแรงงานในอนาคต โดยสถาบันการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อย หรือไม่มีจุดแข็ง อาจมีความเสี่ยงต่อการปิดตัว ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อในขั้นอุดมศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา5  ในปีการศึกษา 2564 มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,816 คนต่อ 1 แห่ง ลดลงจากปีการศึกษา 2559 ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,517 คนต่อ 1 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนที่ลดลงเฉลี่ยกว่า 4% ต่อปี

ทั้งนี้ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อาจขยายตัวในกรอบ 3.1-3.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนการส่งออกอาจพลิกเป็นบวกได้ ขณะที่ ต้นทุนธุรกิจยังมีแนวโน้มทรงตัวสูง ทั้งจากราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่ขยับตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง ตลอดจนการเตรียมการรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ