“ศุภชัย”ซัด”นิพิฏฐ์”เข้าใจบิดเบือน”อนุทิน”แค่เสนอให้ช่วยกันคิดคนนำโรคติดต่อเข้ามาไทย-ไม่มีปฏิเสธรักษาแต่ภาระค่าใช้จ่าย ต้องรับผิดชอบเอง

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณาสุข ได้มีความเห็นเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ข้ามแดนเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนงานต่างด้าว และผู้เล่นการพนันนั้น และมีการแสดงความคิดเห็นกันมากมายทางสื่อมวลชนและทางโซเชียล โดยประเด็นนายอนุทินเสนอคือให้ช่วยกันคิด ช่วยกันดูมาตรา 41 และ 42 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ใช่ “รักษา” หรือ “ไม่รักษา” แต่กฎหมายกำหนดให้ รมว.สาธารณสุข ผู้รักษากฎหมาย ต้องปฏิบัติ ซึ่งประเด็นมาตรา 41 และ 42 คือคนข้ามแดน นำโรคติดต่อระหว่างประเทศ เข้ามาในประเทศ กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ จะให้ละเว้นกฎหมาย ก็ต้องมีการประกาศให้ชัดว่า สิ่งที่นายอนุทินได้เสนอ เรียกว่าประเด็นชวนคิด โดยมีความเห็นชัดเจนว่าผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยย้ำชัดเจนว่า “ไม่มีการปฏิเสธการรักษา” แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ลักลอบข้ามแดน หรือนำแรงงานต่างด้าว เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค มีกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุข มีภาระค่าใช้จ่าย ต้องตรวจ รักษา ผู้ลักลอบข้ามแดน ทั้งคนไทย และคนต่างด้าว จำนวนมาก ซึ่งก็คืองบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน และเงินกู้ ที่คนไทยต้องชดใช้นั่นเอง คำถามคือเมื่อมีปัญหาภาระงบประมาณเกิดขึ้น ดังนั้น นายอนุทิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหาร ควรจะปฏิบัติอย่างไร โดยสิ่งที่นายอนุทินเสนอก็คือ 1.ยินดีรับฟังความเห็นต่าง แต่ขอให้เสนอทางออกด้วย 2.กฎหมายมีอยู่ 3.หาแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย 4.กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำหนดแนวทาง 5.กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ยังไม่เคยทำ เพราะไม่เคยมีเหตุเช่นนี้ จึงเสนอให้ตั้งอนุกรรมการมาพิจารณา ตามกฎหมายกำหนด 6.ถ้ารัฐบาลมีเงินมาก จ่ายได้ โดยประชาชนไม่เดือดร้อน ก็ไม่เป็นไรกรรมการโรคติดต่อ ก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลรับภาระทั้งหมด และในการแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่อยู่ในชั้นกฤษฎีกา อาจแก้กฎหมายให้ตัดข้อความนี้ออกก็ได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นประเด็น ให้ต้องนำมาปฏิบัติ 7.เสนอด้วยเจตนาที่ดี คิดถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

“มีคนเปรียบกับ ขับรถชนคนตาย คนขับบาดเจ็บ รัฐรักษาฟรี หรือไม่ คำตอบคือ ฟรี เพราะไม่มีกฎหมายให้เป็นภาระค่าใช้จ่าย แต่กฎหมายโรคติดต่อกำหนดให้เป็นความรับผิดของผู้นำเข้ามา ไม่ใช่ไร้มนุษยธรรม อำนาจนิยม หรือทำให้คนป่วยหลบหนี ไม่ร่วมมือการควบคุมโรคความจริงที่รู้กันดีก็คือคนทำผิด เขาไม่ให้ความร่วมมือมาแต่ต้นอยู่แล้ว จึงเกิดการระบาดรอบนี้ขึ้นอีก ด่านปิดมาเป็นปีก็ลักลอบออกไปแล้วติดเชื้อกลับมา นี่คือประเด็นที่เสนอให้ช่วยกันคิดโดยเจตนาดี ซึ่งชัดเจน แต่กลับมีบางคนเข้าใจผิดหรือบิดเบือนไป” นายศุภชัย กล่าว