“ศักดิ์สยาม” แจงยิบทางออกการบินไทยทำไม ต้องเข้า พ.ร.บ.ล้มละลาย

“ศักดิ์สยาม” แจง10 ขั้นตอน แผนฟื้นฟูการบินไทยภายใต้คำสั่งศาล คมนาคมมั่นใจพร้อมเสนอ 15 รายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูสัปดาห์หน้าให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาได้ มั่นใจมาถูกทาง การบินไทยไม่สายการบินแรกที่เข้าแผนฟื้นฟูกิจการพร้อมยึดโมเดลสายการบินJALจากญี่ปุ่น-American Airlines ฟื้นฟูกิจการ ยืนยันไม่มีการรอยแพพนักงาน กิจการการบินยังทำรายได้อยู่ได้ 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ มช.เกษตรและสหกรณ์ ,นายชัยวัฒน์ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.,นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวแนวทางการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)

โดยนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทยตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอในแนวทางเลือกที่ 3 ที่จะให้การบินไทย ฟื้นฟูกิจการผ่านพระราชบัญญัติล้มละลายพ. ศ. 2483 เพื่อแก้ไขฐานะของการบินไทยที่ในขณะนี้อยู่ในสภาพวิกฤตหนี้สินล้นพ้นตัว โดยพบว่าในสิ้นปี 62 การบินไทยมีหนี้สินกว่า 147,000 ล้านบาท และได้มีการประมาณการณ์ว่าในสิ้นปี 63 การบินไทยจะมีหนี้สินมากกว่า 200,000ล้านบาท ให้สามารถบริหารจัดการต่อไปได้

ทั้งนี้ในขั้นตอนของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะมี 10 ขั้นตอนภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันนี้แล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปก็จะเริ่มดำเนินการให้กระทรวงการคลังดำเนินการขายหุ้นของการบินไทยออกไป เพื่อลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยให้น้อยกว่า 50% ซึ่งจะทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจทันที ขณะเดียวกันก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริการกิจการตามแผนฟื้นฟู

นอกจากนั้นขั้นตอนภายหลังจากนี้การบินไทยต้องจัดทำยื่นขอคำร้องฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาล  และมีการตั้งคณะทำงานเจรจาเจ้าหนี้และตรวจสอบบัญชีลูกหนี้  และถ้าศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยต้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12  สภาวะพักชำระหนี้ อัตโนมัติ จากนั้นเจรจาเจ้าหนี้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้เห็นว่าแผนฟื้นฟูที่ทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกิจการแข็งแรงได้   ซึ่งศาลก็จะนัดวันไต่ศาล

จากนั้นศาลจะตั้งผู้ทำแผน โดยนายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในส่วนนี้ และพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเสนอต่อนายกฯพิจารณาให้บุคคลดังกล่าวจัดทำแผนหรือไม่ถ้าศาลเห็นชอบจะจัดตั้งผู้ทำแผนก็จะทำหน้าที่ควบคุมแผนกิจการ ประชุมเจ้าหนี้ และปรับปรุงแผน และแต่งตั้งผู้บริหารแผนซึ่งระยะเวลาจะต้องทำให้เร็วที่สุด

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจำนวน 15 รายชื่อ ที่จะเข้ามาทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ โดยจะคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมีความซื่อสัตย์สุจริต ,มีผลงานเป็นที่ประจักษ์,สังคมยอมรับ รวมถึงมีความรู้ความสามารถในธุรกิจการบิน และหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติรายชื่อแล้วก็จะมีการนำรายชื่อเสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาอนุมัติเป็นผู้บริหารแผนต่อไป

ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น จะยึดแนวทางสายการบินในต่างประเทศที่เคยดำเนินการเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของสายการบินที่เคยประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับมาแล้ว คือ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ หรือ JAL ที่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ภายในระยะเวลาเพียง 14 เดือน จนสามารถออกจากแผนฟื้นฟูและเป็นสายการบินที่สามารถทำกำไรในปัจจุบัน

รวมถึงสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ที่ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการ 3 ปีก็กลับมาดำเนินการธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งนี้ในส่วนของการบินไทยใช้ระยะเวลาในการนำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูในเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนการบินไทยจะใช้ระยะเวลา อยู่ในแผนฟื้นฟูกี่ปีนั้น จะต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีสถานการณ์การระบาดของไวรัสCOVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการบินด้วย 

สำหรับสัดส่วนของเจ้าหนี้ ของการบินไทยในปัจจุบัน พบว่าในจำนวนมูลหนี้กว่า 140,000 ล้านบาท ในปลายปี มีสัดส่วนเจ้าหนี้ต่างชาติอยู่ประมาณ 35 % สถาบันการเงินต่างชาติอีก 10 % โดยรวมเบ็ดเสร็จแล้วการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างชาติไม่ถึง 50% โดยในส่วนของเจ้าหนี้ต่างชาตินี้ก็ต้องมีการทำการเจรจา และยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ต่างชาติพิจารณาด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของพนักงานนั้น ได้มอบให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปประชุมหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในสัปดาห์นี้ ให้หาทางออกที่อยู่บนสถานการณ์จริง และปฏิบัติได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับพนักงานของการบินไทยกว่า 20,000 คน อย่างไรก็ตามปัจจุบันคณะกรรมการ(บอร์ด) และผู้บริหาร บริษัทฯ ยังมีคงมีอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม แต่เมื่อใดที่กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นลง ก็จะทำให้บริษัทฯ หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยศาลจะมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหาร และบอร์ดใหม่ทั้งหมด