“ศักดิ์สยาม”ไฟเขียว 5 เมกะโปรเจค กว่า 2.3 แสนล้าน ให้การทางพิเศษสร้าง-ดันตั้ง”กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ – PPP”ลดงบประมาณลงทุนประเทศ

“ศักดิ์สยาม”ไฟเขียว  “ทางหลวง- ทางหลวงชนบท -การทางฯ” บูรณางานร่วมกัน โอนโครงการก่อสร้างให้กทพ.สร้างแทน นำร่อง 5 โครงการเมกะโปรเจค มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท จาก 18 โครงการ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี เริ่มปี65-70 รูปแบบลงทุนทั้ง”ตั้งกองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ –  PPP”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง กรมทางหลวง(ทล.) ,กรมทางหลวงชนบท(ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ว่า  การร่วมมือกันดังกล่าวเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ ไม่มีความซ้ำซ้อนกันในการลงทุน ซึ่งจะเป็นการให้ กทพ. เป็นผู้ลงทุนในโครงการแทน ทล. และ ทช. ซึ่งโครงการนำร่องที่ กทพ. จะเป็นผู้นำมาลงทุนและบริหารจัดการโครงการเบื้องต้นจะมี 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 18 โครงการ โดยแผนจะมีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 65-70

สำหรับสาเหตุที่ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการในโครงการของ ทล. และ ทช. เนื่องจากเห็นว่า บางโครงการจะติดปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะต้องดำเนินการที่สูง และนโยบายต่อไปนี้หากมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างโครงการ จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่ามากที่สุด ​โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ข้างทางที่มีการก่อสร้าง เช่น ที่จอดรถพักรถ หรือที่เรียกว่า rest area  เนื่องจากว่าหากพื้นที่พัฒนามีรายได้จะสามารถนำมาช่วยลดภาระประชาชนในเรื่องของค่าบริการผ่านทางให้มีราคาถูกลงได้  นอกจากนั้นในส่วนของรูปแบบการดำเนินการโครงการให้ กทพ.พิจารณาว่าจะมีการการจัดระดมตั้งกองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) หรือ รูปแบบ โครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP

สำหรับ 5 โครงการ วงเงินรวม 233,799 ล้านบาท ประกอบด้วย1. โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร วงเงิน 30,456 ล้านบาท  ซึ่งเดิมกรมทางหลวง (ทล.) ได้เคยศึกษาออกแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นรูปแบบทางพิเศษเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง  2. โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี – รังสิต – องครักษ์) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร วงเงิน 38,557 ล้านบาท  จากเดิม  ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – ปทุมธานี  

3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร วงเงิน 43,186 ล้านบาท เดิม ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นทางพิเศษ โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร – สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร วงเงิน 96,600 ล้านบาท ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ศึกษาและออกแบบไว้นั้น 

รวมทั้งได้เสนอรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านใต้ และให้ ทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการถนนโครงข่ายรองที่เชื่อมต่อช่วงถนน      จาก ทล.3 บรรจบ ทล.34 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร  และ 5. โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร วงเงิน 25,000 ล้านบาท  ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ