“ศักดิ์สยาม”เร่งรัดโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เพิ่มศักยภาพคมนาคมขนส่ง หนุนท่องเที่ยวไทย – สปป.ลาว

  • มั่นใจโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567
  • ร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง
  • เพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ ตอนตำบลหอคำ – บึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วย นางนาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท โดยมี นายสนิท ขาวสอาด 
ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และกระทรวงคมนาคม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีข้อสั่งการหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกรมเจ้าท่า (จท.) ร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนในภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

สำหรับความคืบหน้า โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) พร้อมโครงข่าย เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งดำเนินการโดย สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ ทล. รวมระยะทาง 16.18 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย ระยะทาง 13 กิโลเมตร และถนนฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร การออกแบบโครงสร้างได้นำเสาหลักของสะพาน (Pylon) มาประยุกต์ระหว่างโครงสร้างกับ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมของชุมชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โดยรูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางพร้อมทางเท้า ช่วงข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 810 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวถนนฝั่งไทย 410 เมตร ฝั่ง สปป.ลาว ความยาว 130 เมตร รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ผลงานในภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีความคืบหน้ารวม 36.704% เร็วกว่าแผน 0.643% คาดว่าจะเชื่อมต่อพื้นที่สะพานได้ประมาณกลางปี 2566 เปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2567

ทั้งนี้โครงการนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างถนนฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 0+000 – 9+400 วงเงิน 831 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธันวาคม 2565 มีความคืบหน้า 50.903% เร็วกว่าแผน 1.378% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด
  • ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างถนนฝั่งไทยและด่านพรมแดนฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 9+400 – 12+082.930 วงเงิน 883 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มีนาคม 2566 มีความคืบหน้า 41.366% ช้ากว่าแผน 2.733%
  • ส่วนที่ 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน แบ่งเป็น ฝั่งไทย ช่วง กม. ที่ 12+082.930 – 13+032.930 วงเงิน 787 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีความคืบหน้า 18% ช้ากว่าแผน 2.77% และฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 0.535 กิโมเมตร วงเงิน 379 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 มกราคม 2567 มีความคืบหน้า 25.21% เร็วกว่าแผน 8.11% ในส่วนของงานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว มีความคืบหน้า 40.78% เร็วกว่าแผน 3.52%

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ ตอนตำบลหอคำ – บึงกาฬ ช่วง กม. ที่ 108+984.000 – 125+416.103 และ กม. ที่ 126+694.399 – 127+189.000 รวมระยะทางประมาณ 16.926 กิโลเมตร โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ทล. รูปแบบการก่อสร้างเป็นการขยายช่องจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร วงเงิน 631,541,500.00 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 930 วัน เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 26 มกราคม 2566 โดยบริษัท พระนครศรีอยุธยาพาณิชย์และอุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โครงการมีความคืบหน้ารวม 46.150% เร็วกว่าแผนงาน 0.867%

เมื่อโครงการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ จะเป็นทางผ่านไปสู่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ทำให้เส้นทางดังกล่าวเป็นการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียนได้ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอีกด้วย.