“ศักดิ์สยาม”ลั่น!ได้วิ่งลงใต้กันฉิวหลังกรมทางหลวงลงนามจ้างเอกชนสร้างมอเตอร์เวย์ช่วง “เอกชัย-บ้านแพ้ว”จ่อขยายต่อถึงปากท่อ

“ศักดิ์สยาม”ลั่น!ได้วิ่งลงใต้กันฉิว ทางหลวงลงนามในสัญญาจ้างเอกชนสร้างมอเตอร์เวย์่ช่วง “เอกชัย – บ้านแพ้ว” เปิดใช้งานในปี 68 พร้อมเดินหน้าสร้าง ช่วงบ้านแพ้ว – ปากท่อ ต่อ มั่นใจช่วยให้ประชาชนเดินทางจาก กทม. ลงภาคใต้ได้โดยสะดวกรองรับการเดินทางกว่า 2แสนคันต่อวัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาและลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ตอน 1 – 10 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 18,759 ล้านบาท ว่า ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักเชื่อมสู่ภาคใต้ของประเทศ มีปัญหาจราจรติดขัดจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาโดยตลอด ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบาย เร่งแก้ไขปัญหาจึงได้ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาดำเนินการในส่วนของงานโยธาโดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน และมีแผนเปิดให้บริการในปี 68  

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน – เอกชัย ระยะทางรวม 8.3 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีความก้าวหน้าแล้ว 57%

นอกจากนั้นทางหลวงยังมีแผนดำเนินการสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงบ้านแพ้ว – ปากท่อ ระยะทาง 47.4 กิโลเมตร สิ้นสุดที่แยกวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งโครงการต่อขยายจาก บ้านแพ้วไปปากท่อนั้น จะเป็นโครงการที่มีแผนก่อสร้างในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 70 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 73  ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนในการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ และ ช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 2 รองรับรถเดินทางได้กว่า 200,000 คันต่อวัน    

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว มีระยะทางรวม 16.4 กม. วงเงินก่อสร้าง 18,759 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน และมีแผนเปิดให้บริการในปี 68 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 10 ตอน ดังนี้

– ตอน 1 ระยะทาง 2.17 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท อุดมศักดิ์เชียงใหม่ จำกัด มูลค่างาน 1,757 ล้านบาท

– ตอน 2 ระยะทาง 2.19 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า กรุงธน-ไทย มูลค่างาน 1,861 ล้านบาท

– ตอน 3 ระยะทาง 1.06 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า วีเอ็น มูลค่างาน 1,910 ล้านบาท

– ตอน 4 ระยะทาง 1.26 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด มูลค่างาน 1,876 ล้านบาท

– ตอน 5 ระยะทาง 1.66 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท บางแสนมหานคร จำกัด มูลค่างาน 1,903 ล้านบาท

– ตอน 6 ระยะทาง 1.10 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอเอสไอ มูลค่างาน 1,865 ล้านบาท

– ตอน 7 ระยะทาง 1.43 กิโลเมตร พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มูลค่างาน 1,868 ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

– ตอน 8 ระยะทาง 2.15 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ซีซีเอสพี-เดอะซีอีซี มูลค่างาน 1,910 ล้านบาท

– ตอน 9 ระยะทาง 2.14 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ซีเอ็มซี-ทีบีทีซี มูลค่างาน 1,859 ล้านบาท

– ตอน 10 ระยะทาง 1.13 กม. ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า เอส.เค. มูลค่างาน 1,946 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow ในเส้นทางดังกล่าวนั้น ทล. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Purchasing Private Partnership: PPP) ให้กระทรวงฯ พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประมูล PPP ได้ภายในปี 65 และดำเนินการติดตั้งระบบในปี 66 – ปลายปี 67 จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนวิ่งฟรีทดสอบระบบและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 68