“ศักดิ์สยาม”ลงพื้นที่ภูเก็ตทุ่มงบพัฒนาโครงข่ายคมนาคมพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน 7.6 หมื่นล้าน

“ศักดิ์สยาม”ลงพื้นที่ภูเก็ตตรวจติดตามความคืบหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคมพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน 7.6 หมื่นล้าน กำชับทุกหน่วยงานเช็กเส้นทางก่อสร้างโครงการขนส่งสาธารณะมทั้งระบบ ทางด่วน-รถไฟฟ้า-สนามบิน-ปริมาณผู้โดยสารให้ชัดก่อนสร้างเพื่อลดต้นทุน คุมค่าโดยสารให้ถูกลง  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล)ว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการไปบูรณาการร่วมกันในการศึกษารายละเอียดของเส้นทางและปริมาณของผู้ใช้บริการในโครงการต่างๆ ที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน โดยให้ตรวจสอบพื้นที่ในการดำเนินการอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งศึกษาการใช้เทคโนโลยี่ให้ทันกับยุคสมัยในปัจจุบันเพราะทุกปัจจัยจะมีผลต่อโครงการและการกำหนดราคาค่าโดยสาร หากสามารถลดต้นทุนของโครงการลงได้ก็จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง รวมทั้งให้รฟม. ทบทวนการจัดทำเอกสารข้อเสนอ RFP เพื่อเปิดกว้างให้บริษัทเข้าร่วมเสนองานรูปแบบโครงการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้สามารถลดต้นทุนของโครงการ และให้ความสำคัญในด้านมาตรการความปลอดภัยจากการใช้เส้นทางด้วย

ทั้งนี้โครงการสำคัญที่กระทรวงคมนาคมจะพัฒนาเร่งดำเนินการ คือ โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ,โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ,โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว โครงการก่อสร้างทางคตโครงการพัฒนาโครงข่าย ทล.4027ของกรมทางหลวง(ทล.) และ ท่าอากาศยานภูเก็ต – ท่าเรืออ่าวปอ ตอน บ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ กม.14+000 – กม.19+538 รวมทางแนวใหม่เข้าบรรจบ ทล.4026 (แยกสนามบิน) 

สำหรับโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตอง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตองต้องใช้ ทล.4029 ซึ่งมีขนาด 2 ช่องจราจร ผ่านภูเขามีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง โดยโครงการจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุ รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น กรณีเกิดสึนามิ เป็นต้น 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทางระยะทาง 3.98 กม. มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด แล้วเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด หลังจากผ่านช่วงเขาจะเป็นทางยกระดับจนสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัด ทล.4029 มูลค่าลงทุนโครงการ 14,177.22 ล้านบาท จากกรมป่าไม้ คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ใช้วิธีการแบบ PPP และอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. เวนคืนในช่วงต้นปี 64 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 66 และแล้วเสร็จในปี 70

ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง กระทรวงคมนาคมได้มอบมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ  โดยแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และระยะที่ 2  ช่วงสถานีรถไฟท่านุ่น – สถานีเมืองใหม่ ซึ่ง รฟม. ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก ระยะทางรวม 41.7 กม. กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท 

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากท่าอากาศยานภูเก็ต ก่อสร้างเป็นทางยกระดับบน ทล.4031 จากนั้น   ลดระดับลงสู่ระดับดินที่ ทล.4026 และปรับโครงสร้างยกระดับอีกครั้งเพื่อข้ามทางแยกสนามบินและอุโมงค์ทางลอด ทางแยกสนามบิน เลี้ยวขวาแล้วจึงลดระดับสู่ระดับดินบน ทล.402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ตโดยแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน ระยะทางประมาณ 3 กม. ก่อนจะปรับกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ต่อมาก่อนเส้นทางทางเข้าสู่แยกบางคูจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดินผ่านทางแยกบางคู (แยกบายพาส) ก่อนกลับขึ้นสู่ระดับดิน เข้าสู่สถานีขนส่ง ผ่านเข้าเทศบาลเมืองภูเก็ต ถนนภูเก็ต  และข้ามสะพานเทพศริสินธุ์ (คลองเกาะผี) เข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก และไปสิ้นสุดเส้นทางใกล้กับท่าเรือฉลอง บริเวณห้าแยกฉลอง 

ทั้งนี้ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง รฟม.จัดทำเรื่องเพื่อนำเสนอกระทรวงฯ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ระยะที่ 1 และรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้จากการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบ PPP ที่เหมาะสมในเบื้องต้น คือ การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา งานระบบ  และขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี 

รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่เอกชนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ในปี 66 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 69

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว เนื่องจากในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีสภาพการจราจรติดขัด ส่งผลให้การเดินทางไป – กลับสนามบินภูเก็ตต้องใช้เวลานานจนผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วนหันไปใช้ถนนสายรองนำไปสู่อุบัติเหตุบ่อยครั้งเพราะมีสภาพคดเคี้ยวและผ่านแหล่งชุมชนอีกทั้ง ทล.4026 ยังมีแผนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชื่อมถึงท่าอากาศยานภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง 

ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวง 4 ช่องจราจร แนวใหม่ สายบ้านสาคู – บ้านเกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 11,568 ล้านบาท ค่าเวนคืน 11,150 ล้านบาท จากการศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้น พบว่าโครงการฯ มีความเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุนรวมทั้งมีศักยภาพในการลดปัญหาจราจรติดขัดตลอดจนมีศักยภาพในการขยายพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตได้อีกด้วย 

ประการสำคัญจัดเป็นโครงข่ายที่ถนนวงแหวนทางด้านเหนือของเกาะภูเก็ตจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางภายในเกาะให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ แต่เนื่องจากโครงการนี้อยู่ใกล้พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงต้องจัดทำรายงาน EIA ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างได้ในปี 2567 เปิดให้บริการในปี 2569

โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง 4027 ระยะทาง 20.8 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,150 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 บ้านท่าเรือ – ป่าคลอก ระยะทาง 5.9 กม. ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรแล้ว ตอนที่ 2 บ้านป่าคลอก – บ้านพารา ระยะทาง 8.4 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีความก้าวหน้าประมาณ  71% และตอนที่ 3 บ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ ระยะทาง 6.5 กม. โดยขยายเส้นทางเดิมเป็น 4 ช่องจราจร ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดส่งรายงาน EIA ให้สำนักงานและนโยบายแผนสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 63 นี้

ส่วนโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (แยกท่าเรือ) ปัจจุบันมีลักษณะเป็นวงเวียนที่ตั้งของอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร มีปริมาณการจราจรคับคั่ง ความจุของทางแยกไม่เพียงพอรองรับการจราจร ก่อให้เกิดความล่าช้าและปัญหาจราจร กรมทางหลวงจึงจะดำเนินการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ลอดใต้ทางแยกขนาด 4 ช่องจราจร โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณสำหรับการออกแบบและรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในวงเงิน 18 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2567

สำหรับการพัฒนาขยายความยาวทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง ความยาวของทางวิ่งจากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตของการจ้าง คาดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนและลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายน 64 ทั้งนี้ การขยายความยาวทางวิ่ง มีที่ดินที่ต้องเวนคืนทั้งสิ้น 670 ไร่ วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน และขอรับจัดสรรงบประมาณปี 65