“ศักดิ์สยาม”บุกแดนกิมจิให้เห็นกับตายางหุ้มแบริเออร์คอนกรีตมันดีจริงลดอุบัติเหตุ

  • “ศักดิ์สยาม” บุกเกาหลีใต้รับผลทดสอบแผ่นยางหุ้มแบริเออร์
  • หลังทดลองในไทยช่วยรับแรงปะทะเพิ่ม 30%-ยันเงินถึงมือเกษตร
  • ด้าน ทช.เผยปี 63 เตรียมทุ่ม 200 ล้าน ใช้ยางพาราทำหลักนำโค้ง-หลักกิโล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ก.พ.-23 ก.พ. 2563 ตนพร้อมด้วยนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อรับผลการทดสอบแผ่นยางหุ้มแบริเออร์คอนกรีต (Barriers Rubber Fender) พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงคมนาคมของประเทศเกาหลีใต้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ ทช. ได้มีการทดสอบเบื้องต้น ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และเป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้ คือ มีความแข็งแรง รวมถึงสร้างความปลอดภัยจากแรงปะทะได้ถึง 30% เมื่อใช้ความเร็วรถ 120 กม./ชม. จากเดิมแบริเออร์คอนกรีตรับได้ 90 กม./ชม.

“เหตุผลที่เราเดินทางไปทดสอบที่เกาหลีใต้นั้น เพราะว่า ที่นั่นเป็นสถาบันสากลที่ได้รับการรับรองจากทั้งโลก ซึ่งถ้าเรารับผลมาก็จะเริ่มโครงการนี้ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุก่อน เพื่อจะได้มีค่าทดสอบเปรียบเทียบอย่างมีนัยยะสำคัญตามหลักสถิติว่า หลังจากติดตั้งแล้วสถิติการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างไร แล้วจะขยายผลไปเรื่อยๆ โดยเรื่องทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวยืนยันว่า สำหรับเกาะกางถนนที่มีอยู่เดิม และได้ดำเนินการไปแล้วนั้น จะไม่มีการรื้อแต่อย่างใด แต่อาจจะปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยด้วยการติดตั้งแผ่นยางหุ้มแบริเออร์เข้าไปแทน ทั้งนี้ มั่นใจว่าสถิติในเรื่องการเกิดอุบัติเหตุจะลดลง อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว จะมีต้นทุนถูกกว่าการทำเกาะหญ้า และได้พื้นที่การจราจรมากกว่า รวมถึงการก่อสร้างเร็วกว่า อีกทั้งยัประหยัดต้นทุนในการบำรุงรักษามากกว่าอีกด้วย

สำหรับแผ่นยางหุ้มแบริเออร์นั้น ต้นทุนราคาจะเท่าเดิมกับที่เป็นแบริเออร์คอนกรีต หรือมีราคาประมาณ 6,000 บาท ส่วนแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ที่เอามาครอบคอนกรีตนั้น มีราคาไม่เกิน 6,000 บาท โดยในงบประมาณลงทุนดังกล่าว จะไปถึงมือเกษตรกรชาวไร่สวนยางโดยตรง

เนื่องจากหลังจากนี้ จะมีการ MOU กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการให้สหกรณ์ชาวสวนยางเป็นผู้ผลิตตามรูปแบบและมาตรฐานของกรมทางหลวง (ทล.) และ ทช. รับซื้อยางพาราโดยตรง ทั้งนี้ จากตัวเลขปริมาณน้ำยางพาราที่จะใช้นั้น อยู่ที่ 80% ซึ่งหมายความว่า ต้นทุนแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ ราคา 6,000 บาท เกษตรกรจะได้รับเงิน 4,800 บาท

อย่างไรก็ตามขณะที่ อายุการใช้งานของแผ่นยางหุ้มแบริเออร์นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี แต่มีวิธีการที่สามารถยืดอายุการใช้งานได้ โดยการทาน้ำยาเคลือบบนแผ่นยางคล้ายกับการทาสี

นอกจากนั้นภายหลังจากเดินทางกลับจากการรับผลการทดสอบดังกล่าวที่ประเทศเกาหลีใต้นั้น กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะอธิบายให้ประชาชนรับทราบว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการทั้งหมดนี้ ทำเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายนโยบายการกำหนดอัตราความเร็ง 120 กม./ชม. รวมถึงทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากส่วนนี้ไป 80:20% ด้วย

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ทช.ได้มีการทดสอบแบริเออร์แบบเรียบ (Single-Slope Barrier) ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบจากคอนกรีตแบริเออร์ (New Jersey Type) แบบเดิม ด้วยความเร็ว 115 กม./ชม. พบว่า Single-Slope Barrier จะสามารถรับแรงปะทะและไม่ทำให้รถที่ชนปะทะแบริเออร์ลอยข้ามไปฝั่งตรงข้าม

ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าแบบ New Jersey Type ที่รถชนแล้วจะลอยข้ามได้ง่าย ทั้งนี้ หากผลการทดสอบที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ผลนั้น ในอนาคตถนนที่มีการก่อสร้างใหม่จะใช้แบริเออร์แบบ Single-Slope ที่หุ้มด้วยยางพาราทั้งหมด

ทั้งนี้ ในปี 2563 ทช. จะมีการใช้ยางพารากับหลักนำโค้ง และหลักกิโล จากในปัจจุบันเป็น “ปูน” ซึ่งมีแผนจะทดแทนจำนวน 100,000 ต้น วงเงินประมาณ 200 กว่าล้านบาท เป็นค่าน้ำยางดิบประมาณ 70-80% ถึงมือเกษตรกร ซึ่งถนน ทช.มีหลักนำทางและหลักกิโล ทั้งหมด 700,000 ต้น ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนจนครบ โดยหลังจากนี้ ทข.ทำเรื่องเสนอกรมบัญชีกลางขออนุมัติในการจัดซื้อตรงจากสหกรณ์ทั่วประเทศ