“วิษณุ” แจง รมต.ที่เป็น ส.ส.โหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (7 ต.ค.) มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.หลายคนสงสัยว่า จะสามารถลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วันที่ 17 ตุลาคม นี้ ได้หรือไม่ จึงได้ทำความเข้าใจว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. สามารถลงได้ แต่โดยมารยาทไม่ควรลงมติในเรื่องที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียส่วนตัว เช่น ไม่ควรลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง

“แต่เรื่องการเสนอกฏหมายงบประมาณไม่ได้เป็นเรื่องส่วนได้เสียส่วนตัว  จึงได้ทำความเข้าใจกับรัฐมนตรีใน ครม. ที่มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.อยู่ 19 คน ว่า สามารถลงมติเรื่องงบประมาณได้เช่นเดียวกับการลงมติในกฏหมายอื่นๆ” นายวิษณุ กล่าว  

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. เข้าประชุมให้พร้อมเพรียงกัน หากมีการสอบถามเรื่องของกระทรวงใด จะได้สามารถอภิปรายได้ โดยเฉพาะวาระที่ 1 ส่วน วาระ 2-3  รัฐมนตรีไม่ต้องเข้าไปยุ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ และกำชับว่า ในการแต่งตั้งกรรมาธิการในส่วนของรัฐบาล 15 คน ต้องเป็นคนที่มีเวลาว่าง เพราะจะต้องเข้าร่วมประชุมตลอด แม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ประธานหรือรองประธานกรรมาธิการ 

“เพราะกรรมาธิการต้องมีการลงมติเป็นรายมาตรา  จึงควรมีเวลาว่าง ไม่ใช่ไปเป็นเพื่อความโก้ แต่ต้องนั่งเป็นสิบวัน ถือว่าเป็นการพิจาารณากฎหมายที่ยาวนานที่สุด จึงต้องหาคนที่มีเวลาเป็นหลัก” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า  รัฐสภาได้แจ้งระยะเวลาไว้กี่วัน นายวิษณุ กล่าวว่า  รัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ในวันที่17 และปิดวันใดวันหนึ่ง คงมีเวลาประมาณ 3-4 วัน ก็ไปแบ่งกันว่า หากวุฒิสภาไม่เอา สภาผู้แทนก็รับไป หากวุฒิสภาจะอภิปราย ก็ให้เผื่อให้วุฒิสภวันหรือครึ่งวัน  ต้องให้วิปไปตกลงกันเอง  อย่างน้อย 2 วัน หากเกินกว่านั้น ก็ต้องเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์

ต่อข้อถามว่า คณะรัฐมนตรีได้รายชื่อกรรมาธิการครบหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ได้แค่ 3 คนที่เป็นหลักต้องอยู่ คือ  ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ  รัฐมนตรีช่วย และปลัด นอกจากนั้นให้แต่ละพรรคไปหา และไม่ต้องส่งมาที่คณะรัฐมนตรี  ให้แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ แล้วไปประสานกับวิป  และไม่จำเป็นต้องเป็นรายชื่อของกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น  เพราะการเป็นรัฐมนตรีมีข้อเสีย ที่อาจไม่มีเวลาไปนั่งอยู่ในกรรมาธิการ 

เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่าน ความรับผิดชอบทางการเมืองกับทางกฏหมายมีผลออย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หลักของประชาธิปไตยในระบบของรัฐสภา ถือว่ารัฐสภาเป็นใหญ่ หากเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล  รัฐบาลก็ไม่ควรอยู่ต่อไป  การไม่ไว้ใจมี 2 แบบ คือ เปิดเผย ทำโดยลงมติไม่ไว่วางใจ และการไม่ไว้วางใจโดยปริยาย คือ การที่รัฐบาลเสนอกฏหมายสำคัญเข้าสู่สภาฯ แต่รัฐสภาไม่ผ่านให้ ไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรต้องอยู่   รัฐบาลต้องลาออก หรือยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินใจ