วิทยุการบิน ทุ่ม 4.2 พันล้าน รองรับอุตสาหกรรมการบินโต

วิทยุการบิน เตรียมทุ่ม 4.2 พันล้านวางระบบการจราจรทางอากาศรองรับ 39 สนามบินทั่วไทย -รองรับอุตสาหกรรมการบินโต

  • ติดตั้งระบบ Backup – สร้างหอบังคับการบิน
  • รับ 2 ล้านไฟล์ทบิน-ผู้โดยสาร 50 ล้านคนในปี 80

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า บวท. เตรียมทุ่มงบประมาณ 4,200 ล้านบาท (งบประมาณผูกพันระยะ 4 ปี หรือตั้งแต่ปี 2567-2570) เพื่อนำมาดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ในสนามบินของประเทศไทยรวมกว่า 39 แห่ง ให้สอดรับกับภารกิจสำคัญของ บวท. ในการรองรับปริมาณเที่ยวบินจากในปัจจุบัน 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี ขึ้นเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีในปี 2580

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.การวางระบบสำรองข้อมูล (Backup) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 ก่อนจะเริ่มออกแบบ ก่อสร้าง โดยจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่า จะรองรับเที่ยวบินกว่า 1.5 ล้านเที่ยวบินต่อปี และ 2.การก่อสร้างหอบังคับการบินท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงิน 1,200 ล้านบาท คาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2570 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2580

นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า บวท. อยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อขยายความจุ (Capacity) เส้นทางการบินบนน่านฟ้าระหว่างไทย-จีน เป็น 2 เท่า ตามที่บรรจุแผนเข้าไปยังองค์การสหประชาชาติ (UN) แล้ว จากแนวโน้มการบินในเส้นทางดังกล่าวที่มีการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ จากเดิมที่สามารถรองรับเที่ยวบินในเส้นทางนี้ 200,000-300,000 เที่ยวบินต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ บวท. จากที่ในปี 2562 มีรายได้ในเส้นทางไทย-จีน ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มเป็นปีละ 6,000 ล้านบาท

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ บวท. จะต้องเจรจาร่วมกับทหาร เพื่อพิจารณาด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับแนวทางของแต่บะประเทศ พร้อมทั้งหารือ 3 ฝ่ายถึงเรื่องการลงทุนว่า จะร่วมลงทุนกันอย่างไรบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เรดาร์การบิน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเริ่มทยอยดำเนินการในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรองรับปริมาณเที่ยวบินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่เป้าหมายของ บวท. ก้าวเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือติด 1 ใน 3 ของภมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง

นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน บวท. ยังได้ดำเนินการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ หรือที่เรียกว่า โครงการ Metroplex ซึ่งจะจัดทำเส้นทางบินเพื่อเชื่อมต่อ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา, กลุ่มที่ 2 เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย บ้านธิ ลำปาง และกลุ่มที่ 3 ภูเก็ต พังงา กระบี่

นอกจากนั้น บวท. จะดำเนินการควบรวมห้วงอากาศ คำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดจุดตัดทางการบิน เพื่อให้ทำการบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งการพัฒนาระบบอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ จะทำให้สามารถรองรับการเติบโตได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ซึ่ง บวท. ได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว