“วัฒนธรรม” ระดมสมอง ขับเคลื่อน Soft Power หนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรม

  • ออกแบบโครงการดี ปี 67 ยกระดับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม
  • เกิดการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
  • ตอบสนองความต้องการของสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนงานและโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรม พร้อมรับฟังการบรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อน Soft Power ในมิติทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในโอกาสนี้ ปลัดวธ. ได้กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นเพื่อขับเคลื่อนกระทรวงวัฒนธรรมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนระดับ 2 อาทิ แผนความมั่นคง แผน BCG ฯลฯ รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและวธ. ในสนับสนุนการใช้ทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริมผลักดัน Soft Power ยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกมิติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนให้การดำเนินงานของวธ.มีประสิทธิภาพ เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ใช้งบประมาณของรัฐอย่างคุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีที่โครงการสำคัญวธ. ของปี 2567 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 43 โครงการ มีแนวโน้มได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ นับเป็นประสบความสำเร็จไปอีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2566 โดยมีกิจกรรมนำเสนอข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรของวธ. ร่วมกับวิทยากร ผู้แทนหน่วยงานระดับกรมและองค์กรมหาชน โดยผลสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ มีบุคลากรในวธ.เป็นกลไกผลักดันที่สำคัญเป็นอันดับแรก ที่ต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันในนโยบายระดับชาติ สามารถเชื่อมโยงให้โครงการฯมุ่งสู่เป้าหมายระดับชาติ สอดรับกับนโยบายของแผนระดับ 2 ต่าง ๆ จนถึงแผนและนโยบายระดับกระทรวง บนวิสัยทัศน์ร่วมกันผ่านการช่วยกันออกแบบและวางแผนโครงการ/กิจกรรมดีๆ ที่สามารถตอบสนองเป้าหมายการปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมและงานวัฒนธรรมในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความจำเป็นในการยกระดับและพัฒนาทั้งในมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม และตอบความคาดหวังของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในการเพิ่มพูนคุณค่าและมูลค่าด้วยทุนทางวัฒนธรรม อันเป็นปัจจัยที่สำคัญและจุดแข็งของประเทศไทยในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี นอกจากนี้ ยังให้บูรณาการทำงานกันอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการจัดทำโครงการ ระดมความเห็นของบุคลากรวธ. ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมทุกภาคส่วนในทุกระดับ ไม่ละทิ้งความต้องการของประชาชน เกิดโครงการดีๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม และประเทศ เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่เป้าหมายในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ มุ่งหวังว่าตั้งแต่ ปี 2567 เป็นต้นไป มิติวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญต่อการพลิกโฉมประเทศ และสามารถยกระดับเป็นกระทรวงชั้นนำได้ในระยะต่อไป