รายงาน กนง.กังวลเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำสุดรอบ 9 ปี ชี้การใช้จ่ายทรุด

  • สะท้อนรายได้และการจ้างงานคนรายได้น้อยอ่อนแอ
  • แนะนโยบายรัฐบาลใหม่ไม่ควรกระตุ้นหนี้ครัวเรือน
  • ยันเห็นด้วยประสานนโยบายการเงิน-การคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมฉบับย่อในการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 7 ส.ค.62 ซึ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยในรายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ดังนั้น จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีและมีแนวโน้มชะลอลงตามความต้องการใช้จ่ายที่ปรับลดลง สะท้อนจากรายได้และการจ้างงานของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่อ่อนแอมากขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.จะติดตาม 1.พัฒนาการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสัญญาจ้างชั่วคราว รายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่อาจจะได้รับผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนซึ่งจะมีนัยต่อการบริโภคในระยะถัดไป 2.การย้ายฐานการผลิตมายังไทยของทุนต่างชาติ และแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะมีผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป โดย กนง.ตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าควรระมัดระวังการกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคภาคเอกชนมาแล้วระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กนง. ระบุความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายทั้งการเงินการคลังและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

ขณะเดียวกันในด้านการเงิน กนง.พบว่า ตลาดการเงินในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงสูงจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย1.การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้าง
ไปสู่ประเทศอื่น 2.มีโอกาสที่จะเกิดการออกจากสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร โดยไม่มีข้อตกลงการค้า ( no-deal Brexit )เพิ่มสูงขึ้น และ 3. ทิศทางการด าเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะส่งผลต่อปริมาณเงินในระบบ และเงินทุนเคลื่อนย้าน ซึ่งอาจกดดันให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น โดย กนง.จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมกรณีค่าเงินบาทแข็งค่า