รัฐบาลย้ำ! ประกาศจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 เริ่ม 1 พ.ย.66

  • เว้นในส่วนผู้ก่อกำเนิด-ผู้รับดำเนินการ
  • มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ 1 มิ.ย.66

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป เว้นแต่ในส่วนหน้าที่ของผู้ก่อกำเนิด (WG) ตามข้อ 13 และหน้าที่ของผู้รับดำเนินการ (WP) ตามข้อ 22 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566

โดยการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ

ขณะนี้ รัฐบาลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทุกโรงงาน ต้องรายงานข้อมูลผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียจำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง ดังนั้นรัฐบาล โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ได้เร่งประสาน ติดตาม และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานรายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ผ่านระบบข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาและการสร้างความเจริญเติบโตที่ต้องดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการปกป้อง รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการแก้ไขการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ

ตลอดจนการพัฒนาโรงงานกําจัดขยะและของเสียอันตรายที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหลุดออกจากระบบ อาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง