รอหน่อย…รถไฟทางคู่ภาคใต้“นครปฐม-ชุมพร”ช้ากว่าแผนแต่เสร็จให้บริการแน่ปี65

.รถไฟทางคู่ “นครปฐม-ชุมพร” 421 กม. คืบหน้า 67.5% ช้ากว่าแผนเหตุปรับแบบ-ปัญหาผู้บุกรุก

.ด้าน “นิรุฒ” ผู้ว่า รฟท. วางหมาก 3 กลุยุทธ์ ปรับกระบวนการทำงาน-บริหารบุคลากร-เร่งขยายตลาดขนส่งสินค้า

.ประเดิมขนส่งเกลือ ตั้งเป้าปีแรก 4 แสนตัน พร้อมลุยของบ 500 ล้านพร้อมสร้างแอปฯ เอาใจผู้โดยสาร

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางภาคใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) มูลค่างานก่อสร้างรวม 33,982 ล้านบาทว่า โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม-ชุมพรนั้น ภาพรวมของโครงการมีความคืบหน้าประมาณ 67.5% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดประมาณ 7.89% จากหลากหลายปัจจัย เช่น การปรับแบบการก่อสร้าง ปัญหาผู้บุกรุกที่ดิน เป็นต้น

สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล มูลค่างาน 8,198 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้าง คืบหน้า 69% ช้ากว่าแผน 0.44%, สัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน มูลค่างาน 7,520 ล้านบาท ความก้าวหน้างานก่อสร้าง คืบหน้า 72.65% เร็วกว่าแผน 2.40%, สัญญาที่ 3 หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่างาน 5,807 ล้านบาท คืบหน้า 74.75% เร็วกว่าแผน 0.25%, สัญญาที่ 4 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย มูลค่างาน  6,465 ล้านบาท คืบหน้า 66.56% เร็วกว่าแผน 3.81% และสัญญาที่ 5 บางสะพานน้อย-ชุมพร มูลค่างาน 6,992 ล้านบาท คืบหน้า 56.13% ช้ากว่าแผน 17.43%อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 64 และเปิดใช้บริการได้ในปี 65

นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้นยังได้มีนโยบายที่กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาและแนวทางการดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.กระบวนการทำงานของ รฟท. ซึ่งจะต้องมีการปรับกระบวนการทำงาน และวิธีคิด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป 2.การบริหารจัดการบุคลากร รฟท. ซึ่งหลังจากนี้ รฟท. จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ เนื่องจากในปัจจุบัน จำนวนพนักงานลดลงเหลือ 9,000 คน จากเดิม 18,000 คนเมื่อปี 2541 แต่ในขณะที่การเดินรถไฟยังคงเท่าเดิม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง และเป็นโจทย์ที่ผู้บริหาร รฟท.จะต้องมาพิจารณาการวางระบบโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูองค์กรต่อไปแม้ว่าในอนาคตอาจจะต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถด้วยก็ตาม

3.การทำการตลาดด้านการขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยล่าสุดได้หารือร่วมกับภาคเอกชนในการขนส่งเกลือ ซึ่งมีปริมาณการขนส่งประมาณ 10 ล้านตันต่อปี โดย รฟท. จะขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างนครราชสีมา-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการขนส่งในปีแรกประมาณ 4 แสนตัน สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนั้น ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของ รฟท. นอกเหนือจากการขนส่งผู้โดยสาร

“4 เดือนกว่าที่ผ่านมา หลังผมเข้ารับตำแหน่งผู้ว่า รฟท. ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์หลายอย่าง เพราะเราจะอยู่แค่นี้ไม่ได้ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรางรถไฟที่มีอยู่ ซึ่งหากเปรียบการรถไฟเป็นคน ผมเปรียบเป็นนักกีฬาที่ในอดีตยิ่งใหญ่ ผ่านการแข่งขันในระดับโอลิมปิก แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเหมือนนักกีฬาที่ล้มป่วยลง จึงต้องเร่งพัฒนาในหลายด้าน เพราะว่าการซื้อหัวรถจักร เครื่องมือต่างๆ ใช้เวลานาน นอกจากนี้ จะต้องเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะถือเป็นมิติใหม่ในอนาคตของ รฟท. และเป็นเรื่องที่เราต้องสร้าวขึ้น” นายนิรุฒ กล่าว

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน รฟท. อยู่ระหว่างการของบประมาณ วงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดทำแอปพลิเคชั่น ซึ่งในขณะนี้ได้ศึกษาแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยแอปฯ ดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการรถไฟไทย ที่จะทราบถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น การติดตามขบวนรถแบบเรียลไทม์ การจองตั๋ว ดูเส้นทางรถไฟ เป็นต้น ในส่วนของระบบ D-Ticket เพื่อในการจองและขายตั๋วรถไฟผ่านแอปฯ นั้น จะเรื่มทดลองให้ใช้บริกานระยะแรกในช่วง ธ.ค.นี้ ก่อนที่จะเปิดใช้งานทั้งระบบเต็มรูปแบบภายใน มี.ค. 64