“รมว.ศุภมาส” นำบพท.ดันเศรษฐกิจปัตตานีปี’70

รมว.ศุภมาส นำทีม บพท. อว. ลงพื้นที่หนุนมหา’ลัยใช้งานวิจัยตอบโจทย์พื้นที่เร่งดันโครงการ “ปูทะเลพื้นที่ภาคใต้สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ” เดินหน้าตามเป้าปี’70 ปลดล็อกความจนคนปัตตานียกจังหวัด

  • รมว.ใหม่ อว.ตรวจงานวิจัยปูทะเล-เศรษฐกิจวัฒนธรรม-แก้จน มอ.ปัตตานี
  • ย้ำมหาวิทยาลัยมุ่งทำวิจัย-พัฒนานวัตกรรมสร้างความอยู่ดีกินดีคนพื้นที่
  • นักวิชาการดาหน้ารายงานความสำเร็จ ทุกโครงการเข้าเป้าหมาย

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยได้นำนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ของ อว. ซึ่งมีความมุ่งมั่นจะส่งเสริมสนับสนุนมหาวิทยาลัยหน่วยงานทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการและใช้ประโยชน์ได้ในแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ และนวัตกรรมนำไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่กำลังทำอยู่ในปัตตานีคือ “โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล” พื้นที่ภาคใต้ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ

ตามเป้าหมายปี 2570 จะทำให้คนปัตตานีหลุดพ้นจากความยากจนยกจังหวัด ปัจจุบันเป็น 1 ใน 7 จังหวัดต้นแบบพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ได้ขยายผลบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConnext) จนสามารถค้นพบครัวเรือนยากจน 19,005 ครัวเรือน หรือ 109,926 คน ด้วยระบบชี้เป้าที่แม่นยำ ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทำให้คนจนเข้าถึงโอกาส การพัฒนานวัตกรรมแก้จน สร้างธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน และการขยายผลบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่กลไกเชื่อมโยงแผนพัฒนาระดับพื้นที่ท้องถิ่นแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนอย่างตรงเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ได้มากที่สุด

ด้าน ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี ได้รายงานผลงานวิจัยที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวง อว. ให้การสนับสนุนขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล” พื้นที่ภาคใต้ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย กับโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เข้าไปยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวปัตตานีให้ดีขึ้น รวมทั้งมีส่วนอย่างสำคัญสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากบนฐานทรัพยากรในพื้นที่ด้วย

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสะมะแอ หัวหน้าโครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ได้นำข้อมูลวิจัยและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจรให้หลายหน่วยงานนำไปใช้ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม นักวิจัยร่วมกันพัฒนา ทำให้ห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงปูทะเลและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าของปูทะเลไทย ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น กระทั่งสามารถยกระดับขึ้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี กล่าวว่า ได้ต่อยอดองค์ความรู้มาจากแผนงานแก้ปัญหาความยากจนของ บพท. ที่ไม่จำกัดนิยามไว้เฉพาะมิติทาเศรษฐกิจหรือรายได้ แต่ครอบคลุมไปถึงทุนการดำรงชีวิตตามหลักสากล 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์-ทุนเศรษฐกิจ-ทุนกายภาพ-ทุนธรรมชาติ-ทุนสังคม

รวมทั้งได้ค้นพบในปัตตานีขัดสนทุนทั้ง 5 ด้าน จำเป็นต้องหาทางช่วยมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยคือแกนกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี พัฒนาระบบค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน พัฒนากลไกความร่วมมือระดับจังหวัดและพื้นที่ พัฒนาระบบปฏิบัติการโมเดลแก้จนที่เหมาะสมตามศักยภาพของคนจนและชุมชน โดยบูรณาการประสานความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.อรุณีวรรณยืนยันว่าภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาความยากจน ที่ใช้ฐานข้อมูลความรู้จากงานวิจัยเป็นเข็มทิศนำทาง ทำให้สถานการณ์ความยากจนในปัตตานีทุเลาลงได้มาก คนจนจำนวนมากได้พัฒนาทักษะความรู้และอาชีพกระทั่งพึ่งพาตัวเองได้ แต่คนจนบางส่วนยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปยังระบบสวัสดิการของรัฐดูแลต่อไป

ขณะที่ “โครงการวิจัยวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” ได้ใช้ความรู้จากงานวิจัยไปเสริมพลังด้านทุนทางภูมิประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์สังคมพหุวัฒนธรรมเดิมของปัตตานี ให้แข็งแรง และต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เป็นรากฐานสร้างให้เศรษฐกิจฐานรากชุมชนยั่งยืน

รศ.ดร.ปุ่น ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า บพท.ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่และภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ได้นำเอาแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ไปประยุกต์สู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมให้มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์พัฒนาพื้นที่ สร้างอนาคตที่ดีให้ทุกคน โดยจะให้ความสำคัญกับการจัดการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Research Area-SRA อย่างเข้มข้นมากขึ้น ด้วยกระบวนการหลอมรวมองค์ความรู้หลากมิติในพื้นที่พัฒนาไปเป็นชุดความรู้สู่การใช้ประโยชน์ พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen