ยกระดับมาตรการป้องโควิดในรถไฟฟ้าเล็งบังคับใส่หน้ากากอนามัยทุกคน

ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าดาหน้าร้องคมนาคมบังคับผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยหากไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ด้าน”ศักดิ์สยาม”รับหากต้องบังคับให้ทุกคนที่ใช้รถไฟฟ้าใส่หน้ากากอนามัยต้องมีประกาศกรมการขนส่งทางรางออกมา มั่นใจป้อง COVID-19 พร้อมซุ่มทำแผนรองรับการระบาดในเฟสที่ 3

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า  กรณีที่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 และหากในอนาคตประเทศไทยประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 ทางผู้ให้บริการอาจจำเป็นต้องบังคับให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกคนใส่หน้ากากอนามัย เป็นมาตรการบังคับ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น ในเรื่องนี้สามารถดำเนินการ แต่ต้องมีประกาศของกรมการขนส่งทางรางออกมานั้น ซึ่งระเบียบหากเข้าเกณฑ์ที่กรมราง  จะต้องเป็นผู้ออกประกาศ ก็จะให้กรมราง ศึกษารายละเอียด เพื่อดำเนินการต่อไป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบากเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 อย่างแพร่หลายนั้น ในส่วนของการให้บริการรถไฟฟ้า ที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทางบีทีเอส ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีมาตรการดูแลความสะอาดอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันในวันนี้เป็นวันแรกที่ทุกสถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ติดป้ายขอความร่วมมือผู้โดยสารให้ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งถือเป็นมาตรการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจและป้องกันการระบาดในระบบเดินรถทั้งขบวนรถและสถานี

ส่วนการเตรียมแผนรองรับไว้อย่างไร กรณีภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศ การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 นายสุรพงษ์ ระบุว่าขณะนี้บีทีเอสเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว มาตรการสำคัญ เช่น การใช้มาตรการบังคับให้ผู้ใช้บริการทุกคนต้องใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งการจำกัดช่องทางเข้า-ออกสถานี ฯทุกแห่ง เพื่อให้สะดวกต่อการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกนตรวจวัดไข้ คัดกรองผู้เข้าใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม การจะบังคับให้ผู้ใช้หน้าการอนามัยนั้น จะต้องมีประกาศทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางรางออกมาบังคับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าแม้จะมีการประกาศการระบาดเข้าสู่เฟส 3 แต่บริการรถไฟฟ้าก็ยังจำเป็นต้องให้บริการ เพื่อความสะดวกของประชาชนที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้บริการส่วนหนึ่ง

ด้านภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การป้องกันการระบาด โควิด-19  รฟม.จะยกระดับมาตรการดูแลความสะอาดของสถานีและขบวนรถ โดยจะเพิ่มการพ่นฆ่าเชื้อระหว่างวันให้บริการ  นอกเหนือจากมาตรการทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อหลังปิดให้บริการแต่ละวัน นอกจากนี้ รฟม.อยู่ระหว่างจัดหาเครื่องเทอร์โมสแกนเพิ่มเติม เพื่อนำมาตรวจวัดไข้ผู้โดยสารทุกประตูทางเข้าสู่ระบบ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีไข้จะไม่ให้เข้าสู่ระบบป้องกันความเสี่ยงระบาดและให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการโดยรวม

นอกจากน้ รฟม.ยอมรับว่าขณะนี้การจัดหาเครื่องเทอร์โมสแกนค่อนข้างมีอุปสรรค เนื่องจากเครื่องขาดตลาดมาก ตัวแทนจำหน่ายระบุว่าการสั่งซื้อปัจจุบันจะได้รับของ 4-5เดือนข้างหน้า รวมทั้งราคาถีบตัวสูงขึ้น จากราคาเครื่องละประมาณ 100,000  บาท เป็นราคาเครื่องละ 400,000  บาท

ส่วนที่มีหลายฝ่ายมีความกังวลว่า หากการระบาดเข้าสู่ระยะ 3  รฟม.จะมีแนวทางปฎิบัติอย่างไรบ้างนั้น ในเรื่องนี้ขอให้มั่นใจว่า รฟม.มีแผนและมาตรการรองรับไว้แล้ว โดย รฟม.พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของรัฐทันที รวมถึงมาตรการสูงสุดในการให้ระบบรถไฟฟ้าหยุดให้บริการเพื่อป้องกันการระบาด ในส่วนนี้ รฟม.ก็พร้อม โดยจะแจ้งให้เอกชนผู้ให้บริการระบบเดินรถ (BEM) ทราบทันที หากมีคำสั่งออกมา

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการการป้องกันการระบาดของ โควิด-19 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าสถานี โดยใช้เครื่องเทอร์โมสแกนวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร หากพบว่าผู้โดยสารรายใดมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศา หรือมีไข้ก็จะขออนุญาตไม่ให้เข้าในระบบ ถือเป็นมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งต้องขออภัยในความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารด้วย โดยก่อนหน้านี้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีมาตรการทำความสะอาดขบวนรถและสถานี โดยการพ่นฆ่าเชื้อต่าง ๆ การเช็ดจุดสัมผัสทุกพื้นที่ ซึ่งดำเนินการไปแล้วเป็นประจำ

ส่วนประเด็น หากรัฐบาลมีการประกาศว่าการระบาดเข้าสู่ระยะ 3 และมีแนวทางให้ผู้ให้บริการเดินรถระบบรถไฟฟ้าปฏิบัติการงานอย่างไร รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์พร้อมปรับแผนปฏิบัติการทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ยังเดินรถด้วยความถี่สม่ำเสมอและใช้ขบวนรถเต็มที่ทั้ง 9 ขบวน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดภายในสถานีและขบวนรถมากเกินไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการสูงสุดที่จะต้องมีการป้องกันการระบาด COVID-19 ด้วยการบังคับให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและรถไฟทั่วไปต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคนนั้น  มาตรการดังกล่าวจะบังคับใช้ได้ต้องมีประกาศของกรมการขนส่งทางราง (ขร.)ออกมา ซึ่งขณะนี้มีรายงานข่าวระบุว่ากรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างประกาศไว้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะใช้ปฏิบัติได้จริง  ปริมาณหน้ากากอนามัยที่จะมีให้ประชาชนใช้หรือหาซื้อได้จะต้องมีเพียงพอด้วย  เนื่องจากขณะนี้หน้ากากอนามัยที่ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเคยนำมาแจกจ่ายให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการฟรี  หากตรวจพบว่าผู้ใช้บริการรายใดมีไข้  แต่ปัจจุบันปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด  แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็จัดหาซื้อยาก มาตรการบังคับให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าต้องใช้หน้ากากอนามัย จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ จะต้องแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมด้วย