ม.หอการค้าไทยเปิดโผ”10ธุรกิจรุ่ง-ร่วง”ปี 63

  • .ธุรกิจแพลตฟอร์มมาแรงเข้าที่1จากปี62ไม่ติดโผ
  • .หลังผู้บริโภคชอบความสบายแค่กดนิ้วซื้อสินค้า
  • .ส่วนร้านเช่าหนังสือเข้าวินธุรกิจดาวร่วงอันดับ1

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลวิจัยทางธุรกิจ 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจดาวร่วง ปี 63 ที่จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า การวิจัยครั้งนี้ ได้พิจารณาจากปัจจัย 5 ด้าน คือ ยอดขาย, ต้นทุน, ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน (กำไรสุทธิ), ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวการณ์แข่งขัน และความต้องการ/ความสอดคล้องกับกระแสนิยม โดยในแต่ละด้านมีคะแนนเต็ม 20 คะแนน รวม 100 คะแนน โดยธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 มีคะแนนใกล้เคียง 100 มากที่สุด และธุรกิจด่วร่วงอันดับ 1 คะแนนห่างจาก 100 มากที่สุด ซึ่ง 10 ธุรกิจดาวรุ่งปี 63 มีคะแนนระหว่าง 95.5-84.4 คะแนน ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วง มีคะแนนระหว่าง 11.7-27.9 คะแนน

สำหรับ 10 ธุรกิจดาวรุ่งปี 63 อับดับ 1 ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางทางด้านอิเล็กทรอนิกส์) เช่น ช้อปปี้, ลาซาด้า, ไลน์แมน, แกร็บฟูด เป็นต้น, อันดับ 2 มี 2 ธุรกิจคือ ธุรกิจอี-คอมเมิรซ์ และธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศและอุปกรณ์ รวมถึงผู้ให้บริการโครงการ , อันดับ 3 ธุรกิจเกมส์ ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชัน, อันดับ 4 ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ ที่รับอานิสงส์การขยายตัวของธุรกิจออนไลน์, อันดับ 5 มี 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

ส่วนอันดับ 6 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบนสตรีทฟู้ด, อันดับ 7 ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ, ดันนดับ 8 ธุรกิจด้านฟินเทค และการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจพลังงาน, อันดับ 9 ธุรกิจก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจที่ปรึกษากฎหมาย/บัญชี และอันดับ 10 ธุรกิจความเชื่อ ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว

”ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มมาแรงสุดในปี 63 จากปี 62 ยังไม่ติด 1 ใน 10 ของธุรกิจดาวรุ่ง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ความเคยชินกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงมีความสะดวก สบายในชีวิต และกระแสการพัฒนาแพลตฟอร์มทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มอาจมีความเสี่ยงในด้านการแข่งขันที่รุนแรงทั้ งจากคู่แข่งในและต่างประเทศ, ความไม่ชัดเจนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความปลอดภัยหรือการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น”

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อถึง 10 อันดับธุรกิจร่วงปี 63 ว่า อันดับ 1 คือ ธุรกิจเช่าหนังสือ, อันดับ 2 ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร, อันดับ 3 ธุรกิจร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต, อันดับ 4 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และวารสาร, อันดับ 5 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และขายในประเทศ ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้, อันดับ 6 ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม, อันดับ 7 ธุรกิจคนกลาง, อันดับ 8 ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ความจำประเภท ซีดี, ซีวีดี, บลู-เรย์, ดิสก์ รวมถึงเมมโมรีการ์ด เอ็กซ์เทอร์นอล ฮาร์ดดิสก์, อันดับ 9 ธุรกิจดั้งเดิมไม่มีการดีไซน์และใช้แรงงานมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และอันดับ 10 ธุรกิจสถานศึกษาเอกชน และธุรกิจร้านถ่ายรูป โดยธุรกิจเหล่านี้ ผู้ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน