ภูมิคุ้มกันหมู่ !!พาเศรษฐกิจไทยรอดได้จริงไหม?

ในวันที่เขียนคอลัมน์นี้ (16 พ.ย.) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 สะสมของประเทศไทยได้ทำลายแนวต้าน 100,000 รายไปแล้วเรียบร้อย และกำลังเดินหน้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากคลัสเตอร์การระบาดใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกวันจากทั่วทั้งประเทศ
สถานการณ์ของไทยในขณะนี้ คล้ายคลึงมากกับการระบาดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และบทเรียนของต่างประเทศอีกเช่นกัน ที่แสดงให้เห็นว่า การเร่งฉีดวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ ที่จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้กับประเทศไทยเท่านั้น คือ ทางออกเดียวที่จะยุติการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
หรืออย่างน้อยที่สุด สามารถยุติการระบาดได้ จนเชื้อโรคสามารถพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ต้านทาน และดื้อกับวัคซีนต้านไวรัสที่เรามีในขณะนี้ได้
และหลังจาก “การรณรงค์” และชี้แจงข้อเท็จจริงจาก “ผู้ทรงอิทธิพล” ในวงการต่างๆ ทุกระดับชั้น รวมทั้งข้อมูลประสิทธิภาพที่เห็นผลชัดเจนขึ้น สำหรับวัคซีน 2 ตัวที่ประเทศไทยมีในขณะนี้ คือ “ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา” ทำให้จำนวนคนไทยที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน โดยไม่เกี่ยงยี่ห้อของวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านแอพพลิเคชั่น และไลน์ “หมอพร้อม” เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคนในเวลาไม่กี่วัน
นอกจากนั้น การปรับแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มแนวทางให้ประชาชนที่ประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วอล์กอิน หรือเข้ารับการฉีดได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า และการยอมให้โรงพยาบาลเอกชนซื้อวัคซีนทางเลือก ผ่านองค์การเภสัชกรรม ในยี่ห้อที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะน่าเป็นอีกทางที่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้เร็วขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การจะเดินทางไปสู่การมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
โดยตามทฤษฎี “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะเกิดขึ้นได้ เมื่อคนในสังคมนั้นฉีดวัคซีนป้องกันโรค และเคยติดโรค ทำให้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้ว ประมาณ 72-86% ของประชากรรวมในสังคมนั้น โดยหากคิดเป็นเปอร์เซนต์เทียบกับประชากรไทย “ภูมิคุ้มกันหมู่”จะเกิดขึ้น เมื่อคนไทยเป็นโควิด และหรือฉีดวัคซีนครบ 50-60 ล้านคน
หรือเพิ่มขึ้นอีก 47.5 ล้านคน จากที่ฉีดไปแล้ววันนี้ประมาณ 2.5 ล้านคน
ทั้งนี้ จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า หากเป็นไปตามข้อสรุป ของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 6/64 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือครอบคลุม 70% ของประชากร ภายในสิ้นปี 2564
โดยเป้าหมายของรัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้ได้ 500,000-1 ล้านโดสต่อวัน ทำให้ใน 1 เดือน (30 วัน) จะฉีดได้ 15-30 ล้านโดส และจะฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในเวลา 4-7 เดือน หรือประมาณสิ้นปี 2564
กรณีนี้ เศรษฐกิจไทยแม้จะเสียหายไปบ้าง แต่ก็มีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาแบบก้าวกระโดดในปี 2565 จากความพร้อมในการกลับมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติในประเทศไทย รวมทั้งความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว และเปิดรับสายการบินพาณิชย์
ที่สำคัญ ประเทศไทยจะไม่ตกขบวนที่จะรับอานิสงส์ในการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่า ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจีน และสหรัฐจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2565

โดยธปท.ประเมินว่า หากรัฐบาลบริการจัดการแผนวัคซีนได้ตามเป้าหมายแรกนี้ ประเทศไทยจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่ายเที่ยวบินพาณิชย์ได้เต็มอัตราในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนวัคซีนที่จะทยอยได้รับ และอัตราความเร็วของการฉีดวัคซีนในแต่ละวันที่อยู่ที่ประมาณ 100,000-150,000 โดสต่อวัน หากจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ ธปท.มองไว้ว่า อย่างน้อยที่สุดจะต้องฉีดให้ได้ 500,000-600,000 โดสต่อวันนั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่ง่าย และเป็นเรื่องที่รัฐบาล เอกชน และประชาชนต้องช่วยกันอย่างหนัก โดยปรับกระบวนทัศน์ของการมอง และการประสานงานให้สอดคล้องกันมากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของเศรษฐกิจเองนั้น แม้เป้าหมายของการฟื้นเศรษฐกิจจะเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เช่นเดียวกับเป้าหมายทางสังคม แต่ระหว่างทางของการไปสู่ “ภูมิคุ้มกันหมู่” อีกประมาณ 3 ไตรมาสกว่าๆ จากวันนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการทั้งการเงิน และการคลังเพิ่มเติมเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ยังไปต่อได้
และหลังจากการระบาดต่อเนื่องมาแล้วติดต่อกัน 3 ระลอก นักเศรษฐศาสตร์เริ่มพูดกันมากขึ้นถึง “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่วิกฤตโควิด-19 จะฝากไว้กับคนไทย เศรษฐกิจไทย และประเทศไทย

บริษัทจำนวนมากที่ปิดกิจการถาวร แรงงานจำนวนมากที่ตกงาน และหางานทำไม่ได้ ซึ่งในที่สุด อาจจะกลายเป็นผู้สุญเสียความสามารถในการทำงาน รวมทั้งปัญหาสังคม และสภาพจิตใจของคนไทยที่ต้องฟื้นฟู ดังนั้น นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายแล้ว
“ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล” ควรจะจริงจังกับการออกมาตรการเพื่อพยุงการจ้างงาน พยุงกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และการใช้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น นอกเหนือจากการหาแหล่งเงินกู้ และการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากนั้น อีกประเด็นที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นในการ “ผู้ซื้อ” ต่างชาติ ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่กระทบต่อภาคการผลิตสินค้า คุณภาพสินค้า รวมทั้งการส่งออกสินค้าของประเทศไทย เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากยังจะเหลือใครที่พอเป็นพระเอกให้กับเศรษฐกิจไทยได้บ้าง คงจะเหลือแค่ “การส่งออก” สินค้าที่ดีขึ้นต่อเนื่องมากตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา
ดังนั้น ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษา “แรงขับเคลื่อน” ที่ยังพอมีอยู่นี้ต่อไป จนกว่าเราจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเปิดประเทศได้ในอีกระยะหนึ่งข้างหน้า

#Thejournalistclub #วัคซีนโควิด #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ